COSMEDTHAI http://cosmedthai.siam2web.com/

น้ำหมักสมุนไพร

พลังชีวิต พลังแห่งการรักษา

ภก.อุดม  รินคำ 

            ปัจจุบัน "มนุษย์ทั้งโลกกำลังแหวกว่ายอยู่ในทะเลแห่งสารพิษ" คำกล่าวที่ไม่อาจปฏิเสธได้นี้ทำให้หลายคนนึกไม่ออกว่าเป็นไปได้อย่างไร เมื่อเราแหวกว่ายอยู่ในทะเลแห่งสารพิษจริง ทำไมเราจึงยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้หรือหากเราต้องการมีสุขภาพที่สมบูรณ์อยู่ได้ในสภาวะดังกล่าว จะมีหนทางที่ดีให้กับผู้ที่รักสุขภาพทั่วไปอย่างไร

          ผู้เขียนต้องขอยืนยันว่า สิ่งแวดล้อมตัวเราทุกวันนี้เต็มไปด้วยสารพิษที่มีศักยภาพในการทำลายสุขภาพมากมายจริงๆ มีสารพิษทั้งกลุ่มที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือไม่สามารถมองด้วยตาเปล่ามากมายเช่นสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม   ตะกั่วที่ตกค้างจากสีทาบ้านหรือในบ้านไม้ที่ผสมสารกันแมลง อาหารอร่อยแต่ปนเปื้อนด้วยพิษโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง สารเคมีอันตรายเช่น PCBs หรือ  DIOXINS   สารพิษที่เกิดตามธรรมชาติเช่นก๊าซเรดอนที่ลอยขึ้นมาจากใต้ดินแล้วถูกกักขังในห้องแอร์ ควันเสียจากท่อไอเสียรถหรือเศษผงสารแอสเบสตอสที่หลุดออกจากเบรครถ  สารพิษเหล่านี้ร่วมกันทำงานบ่อนทำลายสุขภาพหรือ "ก่อการร้าย" ให้ร่างกายเราไม่อาจตั้งอยู่ในสภาวะแห่ง "สุขภาพ" ได้ แต่ที่เราสามารถรอดพ้นภัยคุกคามจากสารพิษได้เพราะ "พลังชีวิต" ที่เรามีอยู่เช่น "ระบบภูมิต้านทาน" ที่สลับซับซ้อนและยังแข็งแรงอยู่ของร่างกายสามารถทำสงครามชีวภาพต่อสู้ปกป้องร่างกายจากการรุกรานจากสิ่งแปลกปลอมให้ร่างกายพออยู่เป็นปกติสุขได้ ในบางคนระบบภูมิต้านทานถดถอยลง ที่เคยใช้ป้องภัยจากผู้รุกรานหรือเชื้อโรคนานาชนิดอย่างได้ผลมาเป็นเวลานานแล้วค่อยๆพังทลายลงทีละน้อย ก็จะเปิดโอกาสให้เชื้อโรคผู้รุกรานแทรกซึมเข้าสู่ส่วนต่างๆของร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดการเจ็บป่วยและรุนแรงเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา จะเห็นได้ว่าเมื่อร่างกาย "อ่อนแอ" จนถึงที่สุดแล้วก็จะเกิดพยาธิสภาพ แต่ถ้าเรายัง "แข็งแรง" สามารถต่อสู้กับผู้รุกรานได้เรื่อยๆก็ไม่เจ็บป่วย ทั้งสองสภาวะของร่างกายนี้เป็นดังสมการที่ย้อนกลับไปกลับมาได้ ขึ้นอยู่กับเจ้าของร่างกายหรือดูแลคนไหนสามารถนำเอาหลักการมาขับเคลื่อนให้สมการเป็นไปในทางที่ "แข็งแรง" หรือ "อ่อนแอ" ซึ่งผลที่ปรากฏในผู้ป่วยจะเป็นข้อพิสูจน์ยิ่งกว่าใช้ตัวชี้ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการใดๆทั้งสิ้น

          ความจริงสภาวะในร่างกายของคนส่วนใหญ่ควรเรียกว่า "ทุกขภาพ" จะถูกต้องกว่า "สุขภาพ" เพราะร่างกายต้องมีการเกิดปฏิกริยาหรือสมการทางชีวเคมีและให้ปฏิกิริยาเหล่านั้นสมดุล(สุข)ตลอดเวลา หากปฏิกิริยาเสียสมดุลไปทางใดเพียงเล็กน้อยก็จะเกิดทุกข์หรือเป็นโรค ดังนั้นจะเห็นว่าสภาพของร่างกายเอียงไปด้าน "ทุกขภาพ" ตลอดเวลาการไม่สมดุลนี้หากเพิ่มมากขึ้นจนเลยจุดทนทานหนึ่งของร่างกายก็จะแสดงผลให้เกิดเจ็บป่วยได้ สารพิษในทะเลของสังคมโลกเพิ่มชนิด ปริมาณและความร้ายแรงมากยิ่งขึ้นทุกวัน หากไม่แสวงหาวิธีการลดสารพิษหรือวิธีป้องกันตนเองให้ดี เราแต่ละคนก็ไม่อาจมี "สุขภาพ" ที่ใช้ในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพได้ โชคดีที่มนุษย์ยังมี "พลังชีวิต" พลังแห่งการรักษาตัวเองที่ช่วยให้เราปลอดภัยจากปัจจัยก่อโรคไปได้ส่วนหนึ่งเป็นเบื้องต้น พลังชีวิตเป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้หลายทางเช่น การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ การสร้างกำลังใจ การดำเนินชีวิตที่สะอาดสงบ การบีบนวดกล้ามเนื้อ การดื่มน้ำสะอาดอย่างพอเพียง การเลือกกินสารอาหารที่ดีมีประโยชน์เช่นผัก ผลไม้และสมุนไพรรวมทั้งสมุนไพรที่เป็นสูตรตำรับสมุนไพรที่ดีหรือจากภูมิปัญญาดั้งเดิม สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายสร้างองค์รวมของพลังชีวิตหรือพลังแห่งการรักษาตัวเองมากขึ้น เป็นเกราะป้องกันเราให้พ้นจากเชื้อโรค สารพิษและปัจจัยก่อโรคทั้งหลายได้ทุกที่ทุกเวลาเหมือนใส่เสื้อเกราะป้องกันตัวเอาไว้หรือกล่าวได้ว่าเป็นการ "เปลี่ยนร่างกายให้เป็นโรงงานผลิตยาที่มีชีวิต"  ปัจจุบันมีองค์ความรู้มากมายในเรื่องสุขภาพ เช่นเรารู้ว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายมาจากระบบทางเดินอาหาร หากมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ (Probiotics)ในทางเดินอาหารมากจะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานดังกล่าวได้ สมุนไพรที่ดีก็ช่วยเพิ่มพลังชีวิตได้เกี่ยวกับเรื่องของ "สุขภาพ"ผู้เขียนชื่นชอบภูมิปัญญาไทยที่ถ่ายทอดเป็นคำพูดฝังใต้สมองเยาวชนคนไทยมาตั้งแต่โบราณที่กล่าวว่า "กันไว้ ดีกว่าแก้" เป็นคำกล่าวที่สั้นกระชับมีพลังของภาษาจำง่าย และสามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานการณ์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมทันที ส่วนในแง่มุมของสุขภาพ คติพจน์นี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสร้าง "สุขภาพ" ได้กว้างขวางและยั่งยืน จะเห็นได้ว่าเมื่อทำให้ร่างกายตั้งอยู่ในภาวะของการ "กัน" ตามคติพจน์ดังกล่าวข้างต้น ร่างกายก็จะอยู่ในสภาวะ "สุข" หรือเตรียมพร้อมตลอดเวลา เป็นการป้องกันไม่ให้ร่างกายเข้าสู่สถานการณ์ "ทุกข์" ซึ่งถึงเวลานั้นอาจสายเกินไปที่จะ "แก้" เพราะพยาธิสภาพที่สะสมอยู่คล้ายภูเขาน้ำแข็งมานานเริ่มส่งผลให้เจ็บป่วยเกิดอาการของโรคที่พลังแห่งชีวิตประจำตัวเราไม่สามารถเยียวยาตัวเองได้อีกต่อไป

          จากการที่มีพื้นฐานความรู้ด้านเภสัชศาสตร์และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จริงมานาน ผู้เขียนมีข้อสรุปเกี่ยวกับสุขภาพและต้องการถ่ายทอดแบ่งปันสู่ผู้แสวงหา "สุขภาพ" ว่า ธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์ ร่างกายเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและเป็นเครื่องจักรมหัศจรรย์ ร่างกายมีพลังในการรักษาตัวเองได้แต่อย่างไรก็ตามเครื่องจักรของเราก็ต้องการบำรุงรักษาและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอด้วยจึงจะทำให้เครื่องจักรสมบูรณ์พร้อมทำงานต่อไป การบำรุงรักษาร่างกายก็คล้ายกับการบำรุงรักษาเครื่องจักรทั่วไปคือต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหรือจ่ายค่าเช่าในกรณีที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของจึงจะนำเอาเครื่องจักรมาใช้งานได้ การบำรุงรักษาเครื่องจักรนี้ให้อยู่ในสภาพดีหรือสภาวะที่เป็น "สุขภาพ" มากกว่า "ทุกขภาพ" วิธีที่กำลังอยู่ในความนิยมของกระแสโลกคือใช้การแพทย์ทางเลือกหรือทางเสริมเพราะเป็นวิธีการอิงธรรมชาติอันแสนมหัศจรรย์และมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโครงสร้างของร่างกายมากกว่า (องค์ประกอบตัวเรามาจากอาหารที่เราเอามาจากธรรมชาติทั้งสิ้น) เพื่อช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันไว้ใช้ป้องกันและรักษาร่างกายให้เป็นการ "กันไว้ดีกว่าแก้" มากกว่าการรอให้เกิดโรคแล้วหายากินหรือไปพบแพทย์ เป็นวิธีการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตอยู่ใน "ทะเลแห่งสารพิษ" แห่งนี้ได้ตลอดไป

            ปฐมภูมิของชีวิตนี้เริ่มจากการปฏิสนธิระหว่างเซลล์ไข่ของผู้แม่กับตัวเซลล์อสุจิของพ่อ กลายเป็นเซลล์เริ่มต้น (Zygote) หรือเซลล์ต้นแบบ (Stem cell) ของชีวิตตัวน้อยในครรภ์มารดา จากนั้นเซลล์ต้นแบบก็จะแบ่งตัวตามรหัสของยีนส์ จากหนึ่งเซลล์เป็นสอง เป็นสี่ แปด สิบหก สามสิบสองเซลล์...เรื่อยไปจนเป็นล้านและหลายๆล้านเซลล์ กลุ่มเซลล์นับล้านๆเซลล์รวมตัวเป็นเนื้อเยื่อ เป็นอวัยวะน้อยใหญ่และกลายเป็นเด็กทารกในครรภ์และคลอดในเวลาเก้าเดือนต่อมา ปกติขบวนการแบ่งตัวของเซลล์ดังกล่าวข้างต้นมีความแม่นยำสูงมาก เซลล์ต้นกำเนิดเซลล์แรกและเซลล์ลูกหลานลำดับที่ล้านจะมีรูปร่างหน้าตาและลักษณะเหมือนกันทุกประการ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีความแม่นยำในการแบ่งเซลล์สูง เมื่อมีการทำงานซ้ำๆกันนับล้านครั้งการแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกายก็เกิดการผิดพลาดได้เช่นกัน นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าทุกๆหนึ่งในล้านเซลล์ที่เกิดใหม่จากการแบ่งตัวจะมีหนึ่งเซลล์ที่เป็นเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์เพี้ยนเสมอ เซลล์ที่ผิดปกติหนึ่งในล้านนี้อาจเป็นเซลล์เนื้องอก เซลล์มะเร็ง เซลล์ภูมิแพ้ หรือเซลล์ผิดปกติอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นเซลล์ทั้งระบบในร่างกายมีการแบ่งตัววันละประมาณสองพันล้านเซลล์ ดังนั้นเราจะได้เซลล์ผิดปกติเป็นผลพลอยได้วันละสองพันเซลล์ทุกวัน กรณีที่เซลล์ผิดปกตินั้นเป็นเซลล์มะเร็ง จำนวนของเซลล์มะเร็งก็จะสะสมเพิ่มขึ้นทุกวันๆละ 2,000 เซลล์ เมื่อมีมากขึ้นเรื่อยๆรวมกันเป็นก้อนมะเร็งในเวลาและพัฒนาไปเป็นโรคมะเร็งได้ในที่สุด ปกติร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถตรวจความผิดปกติและขจัดความผิดปกตินั้นออกไปอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาร่างกายของเราจึงปลอดภัยไม่มีพยาธิสภาพของมะเร็ง  ภูมิแพ้หรือความผิดปกติอื่นๆ เมื่อใดที่ระบบภูมิคุ้มกันนี้เสียหายไม่สามารถแยกแยะเซลล์ที่ดีและไม่ดีได้ มันก็จะไม่ทำงานหรือทำตรงกันข้ามกับที่ควรจะทำ เซลล์เพี้ยนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆส่งผลให้เกิดพยาธิสภาพและเจ็บป่วยได้ในที่สุด เป็นเหมือนสมการที่เกิดขึ้นไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด หากเราสามารถย้อนกลับสมการเลวร้ายดังกล่าวได้ เช่นมีเซลล์มะเร็งเริ่มต้นจำนวนหนึ่งล้านเซลล์ เรามีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นสามารถลดจำนวนเซลล์มะเร็งลงจากหนึ่งล้านเซลล์ให้เหลือเก้าแสน..แปดแสน..เจ็ดแสน...หกแสน.. ลดลงอย่างต่อเนื่องได้เรื่อยๆ เวลาผ่านไปช้าหรือเร็วหากยังคงนับถอยหลังตัวตัวเลขนับจำนวนเซลล์มะเร็งก็ต้องลดลงใกล้ศูนย์ลงเรื่อยๆที่สุดเซลล์มะเร็งก็จะหมดไปจากร่างกายหรือหายจากโรคมะเร็งได้ โดยตรรกะหากมีตัวควบคุมสมการให้ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นได้เช่นเพิ่มปริมาณและประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาวที่มีคุณสมบัติในการกำจัดเซลล์มะเร็งให้มากขึ้นได้ เซลล์มะเร็งก็ค่อยๆลดลงจนเหลือน้อยจนไม่เกิดโรคได้เหมือนกัน ปรากฎการณ์ของคนที่เป็นโรคมะเร็ง โรคภูมิแพ้และโรคที่เกี่ยวกับเซลล์ผิดปกติเรื้อรังหลายชนิดสามารถรักษาให้ดีขึ้นมากหรือบางรายอาการของโรคไม่กลับมาอีกหลังจากใช้สมุนไพร การแพทย์ทางเลือกหรือการแพทย์ทางเสริมเช่นการทำสมาธิ ฝึกจิต ผู้เขียนได้สรุปเป็นแนวคิดรวบยอดหรือเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับหน่วยความจำของระบบภูมิต้านทาน ที่ทำงานย้อนกลับลึกไปถึงระดับ Stem Cell โดยตั้งชื่อทฤษฎีนี้ว่า  "ทฤษฎีหน่วยความจำย้อนกลับ หรือ Reverse Memory Pathway Theory" โดยมีเนื้อหาของทฤษฎีดังนี้ "การกระตุ้นระบบภูมิต้านทานให้ทำหน้าที่กำจัดเซลล์ที่ผิดปกติ ผ่านระบบความจำในเซลล์ลูกหลานหรือ Daughter Cell ที่แบ่งตัวจาก Stem Cell และขยายผลย้อนกลับไปถึง Stem Cell ทำให้เซลล์ลูกหลานและเซลล์ต้นแบบถูกกำจัดไปได้โดยวิธีเดียวกัน" อาศัยแนวคิดหรือทฤษฎีดังกล่าวเราจึงสามารถนำไปอธิบายโรคและการพัฒนาการรักษาโรคร้ายแรงหลายชนิดเป็นไปได้ง่ายขึ้นในอนาคต

          (เราเชื่อมั่นว่า ข้อมูลในบทความดังกล่าวข้างต้นมีความถูกต้องชัดเจนและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเราไม่ได้รับรองผลจากการนำไปใช้ทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนี้ ท่านผู้อ่านกรุณาในการพิจารณาการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้เฉพาะเป็นกรณีไป เพื่อป้องกันความเสียหายใดๆที่จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังบุคคลที่สาม ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม)

                  

น้ำหมักสมุนไพร

         มีนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งกล่าวว่า "จุลินทรีย์เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์"  คำกล่าวดังกล่าวข้างต้นเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ หากไม่มีจุลินทรีย์สมดุลของธรรมชาติทั้งภายนอกและภายในร่างกายย่อมไม่อาจตั้งอยู่ในภาวะสมดุลได้ สำหรับสมดุลภายในดังกล่าวเริ่มแสดงผลเด่นชัดมากยิ่งขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในวงการแพทย์ที่ยาปฏิชีวนะกำลังท่วมโลก การสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะมากมายเกินความจำเป็น ทำให้ระบบสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกายโดยเฉพาะในลำไส้เริ่มเสียหาย ส่วนจะเสียหายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความถี่ จำนวนหรือชนิดของยาปฏิชีวนะที่กินเข้าไป ยาปฏิชีวนะหรือ Antibiotic บางชนิดหากกินเป็นเวลานานๆจะทำให้จุลินทรีย์หลายชนิดตายหมดเหลือแต่กลุ่มที่ดื้อยา จุลินทรีย์กลุ่มที่ดื้อยาก็สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่ไร้คู่แข่งเกิดภาวะเสียสมดุลร้ายแรง (overgrowth) ซึ่งหากกลุ่มจุลินทรีย์ที่รอดตายจากยาปฏิชีวนะดังกล่าวเป็นเชื้อก่อโรค จะทำให้ร่างกายติดเชื้ออย่างรวดเร็วและรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ จะเห็นได้ว่าสมดุลด้านที่ไม่ดีทำให้จุลินทรีย์ก่อโรคได้โอกาสทำอันตรายแก่ร่างกายซึ่งเป็นเจ้าของบ้านได้ เปรียบเสมือนสังคมเมืองของมนุษย์ที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี หากผู้รักษากฎหมายสามารถควบคุมคนไม่ดีไม่ให้ก่อความเดือดร้อน สังคมก็อยู่เป็นปกติสุขได้ เมื่อใดกฎหมายที่ใช้ควบคุมสังคมไม่ทำงานหรือผู้ร้ายมีมากกว่าผู้ดีบ้านเมืองก็ไม่สงบสุข ไม่มีสังคมไหนสามารถกำจัดคนไม่ดีได้ทั้งหมด บางแง่มุมคนไม่ดีก็มีประโยชน์คือช่วยให้บ้านเมืองเห็นช่องว่างหรือสิ่งผิดปกติ ทำให้สามารถออกกฎหมายขึ้นมาป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเปรียบเสมือนเชื้อโรคในร่างกายจำนวนเล็กน้อยก็สามารถช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายได้ ปัจจุบันความรู้เรื่องจุลินทรีย์ที่ดี(Probiotics) ได้มีการศึกษาพัฒนามากขึ้น Probiotics  หลายชนิดควบคุมเชื้อก่อโรคได้ดีกว่ายาปฏิชีวนะโดยไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายในขณะเดียวกัน Probiotics  ก็ยังมีคุณสมบัติในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น สร้างศักยภาพในการป้องกันร่างกายจากผู้รุกรานได้เต็มที่ ในความเป็นจริงร่างกายเรามีความสัมพันธ์กับจุลินทรีย์หลากหลายชนิดทั้งชนิดที่ดีก็มากมายซึ่งช่วยให้ร่างกายเราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขและชนิดที่ไม่ดีซึ่งทำให้ร่างกายเจ็บป่วยก็มากมาย แต่ในบางครั้ง จุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ดีมีจำนวนไม่มากนักก็ช่วยให้ร่างกายพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้นได้  ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทราบแล้วว่า การทำงานในที่สกปรกบ้าง สามารถกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันและแข็งแรงกว่าและทำให้คนเป็นมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนที่พยายามรักษาสะอาดมากเกินไป

         เราสามารถลำดับเหตุการณ์สมดุลดังกล่าวมาแล้วไว้เป็นแนวคิดได้เช่น การกินยาปฏิชีวนะเกิดการเสียสมดุลของจุลินทรีย์และระบบการทำงานของร่างกาย มีช่องว่างหรือความแตกต่างของจำนวนจุลินทรีย์ที่ควรจะเป็นจริงกับความแตกต่างที่เป็นจริงในปัจจุบัน ซึ่งเป็น "ทุกขภาพ" ของร่างกาย (ในทางพุทธศาสนา ทุกข์มาจากรากศัพท์ของคำว่า  = ทุก+ข  "ทุก" แปลว่าไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ส่วน "ข" แปลว่าช่องว่าง ทุกข์จึงแปลว่าช่องว่างที่ไม่ดี ไม่ชอบ) ความเป็นไปในขบวนการทำลายสมดุล (ความแตกต่างของจำนวน) ของจุลินทรีย์ในร่างกายไปเรื่อยๆเหมือนกับเกิดสมการเลวร้ายนำไปสู่การเสียเจ็บป่วยหรือเป็นทุกข์  เราสามารถทำให้สมการเลวร้ายหรือคล้ายกันลักษณะดังกล่าวข้างต้นย้อนกลับคืนได้โดยลดช่องว่างที่ไม่ดีหรือทุกข์ ของระบบการทำงานของร่างกายลงได้ เมื่อช่องว่างลดลง ทุกขภาพของร่างกายก็ลดลง หากสมการย้อนกลับเรื่อยๆจนช่องว่างไม่มี  "ทุกขภาพ" ในร่างกายก็จะเปลี่ยนไปเป็น "สุขภาพ" ระบบควบคุมร่างกายโดยยีนส์ ระบบประสาทส่วนกลางที่สั่งปฏิกิริยาชีวเคมีในทุกเนื้อเยื่อให้ทำงานอย่างราบรื่น ทำให้สุขภาพของร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคภัยตลอดไป

         จุลินทรีย์ในโลกนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ชนิดที่ให้โทษเรียกว่าเชื้อก่อโรค (Pathogens) ชนิดที่ให้ประโยชน์เรียกว่าเชื้อชูชีพหรือโปรไบโอติก(Probiotics)และชนิดที่ไม่ส่งผลเสียหรือดีต่อร่างกาย (Normal Flora) ในภาพรวมเรามักกลัวเชื้อก่อโรคมากแต่ในความเป็นจริง เชื้อก่อโรคไม่สามารถทำให้เราเจ็บป่วย หากได้รับในปริมาณน้อยเกินไป เช่นหากบังเอิญเชื้อก่อโรคท้องร่วงหลุดเข้าปากคนที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์จำนวน 100 ล้านตัว ร่างกายยังสามารถกำจัดเชื้อก่อโรคออกไปได้และเราก็ไม่เกิดโรคท้องร่วงได้เพราะระบบภูมิต้านทานอันสลับซับซ้อนทั้งหลายที่ร่างกายมีอยู่จะทำงานประสานกันในการกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกายระบบภูมิต้านทานหรือพลังชีวิตนี้มาจากภูมิต้านทานดั้งเดิมหรือภูมิต้านทานที่มาจากการกระตุ้นด้วยสารอาหารหรือจุลินทรีย์ที่เหมาะสม ปกติภูมิต้านทานมีศักยภาพรับมือกับเชื้อก่อโรคผู้รุกรานได้มากราว 100 ล้านตัวก่อนที่จะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ ความน่าสนใจของกรณีที่ระบบภูมิต้านทานสามารถป้องกันร่างกายให้พ้นจากการรุกรานของเชื้อก่อโรคก็คือ เรามีพลังในการรักษาของร่างกายติดตัวอยู่ตลอดเวลาไม่ต้องซื้อหามาใช้งานเหมือนซื้อยา ซึ่งพลังในการรักษาตัวนี้เราสามารถสร้างเสริมให้มากกว่าที่ธรรมชาติให้มาได้โดยการฉีดวัคซีน การกินสารอาหารที่ดี หรือได้รับจากจุลินทรีย์ทั้งการสัมผัสหรือการกิน โดยการกินจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพนั้น มนุษย์รู้จักมานานหลายพันปีแล้ว ที่เรารู้จักเช่นการกินนมเปรี้ยวของชาวยุโรปหรือชาวเอเชียบางเผ่าเช่น ทหารนักรบของเจ็งกีสข่าน ดื่มนมเปรี้ยวหมักในถุงหนังที่พกไว้ข้างอานม้าศึกตลอดเวลา ทำให้มีแรงรบและทำงานได้นานกว่า มีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วยง่าย

         อาหารเพื่อสุขภาพ (Functional Food) คือ กลุ่มอาหารที่เชื่อว่าส่งผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งอาจผลิตหรือบรรจุรวมกับจุลินทรีย์ที่มีชีวิต หรือน้ำหมักของพืชผักสมุนไพรที่มีคุณค่าสารอาหารสูง ในการปลูกพืช การตระหนักเรื่องพืชธรรมชาติ พืชที่อุดมสมบูรณ์สร้างสารอาหารได้ดีกว่า ต้นไม้ที่ปลูกในที่มีแหล่งน้ำและปุ๋ยพอเพียงจะมีความเครียดน้อยกว่าต้นไม้ที่ปลูกในที่แห้งแล้ง ขาดปุ๋ย และสามารถผลิตสารสำคัญที่ให้ประโยชน์ทางยา มีกลิ่นและมีรสชาติที่ดีกว่า ซึ่งผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น การใช้วัตถุดิบพืช ผักสมุนไพรที่ดีดังกล่าวมาทำเป็นอาหารหรือผลิตเป็นยา โดยการหมักด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่เรียกว่าโปรไบโอติก สามารถนำมาสารเสริมอาหารหรือเป็นอาหารเครื่องดื่มเพื่อช่วยเสริมสร้างสุขภาพและช่วยปรับปรุงสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกายได้          

         ปัจจุบันนักวิจัยและผู้ประกอบการอาหารเริ่มเล็งเห็นถึงศักยภาพของเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอาหารโปรไบโอติก มากขึ้น  มีเกณฑ์มากมายที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ที่เหมาะสม โดยในขณะเดียวกันจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์และให้ความมั่นในการยอมรับจากผู้บริโภคอีกด้วย เชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้เป็นโปรไบโอติกได้มาจากหลายสกุลที่แตกต่างกันสายพันธุ์ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้เป็นกลุ่มของแลค ติกเอซิดแบคทีเรีย ได้แก่ แลคโตบาซิลไล  เอนเทอร์โรคอคไค และบิฟิโดแบคทีเรีย โดยแลคโตบาซิลไลเป็นสายพันธุ์ที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด  ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการพัฒนาโปรไบโอติกที่มีศักยภาพจากเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ และยีสต์ขึ้นมาด้วย 

        ถึงแม้ว่าโปรไบโอติกจะเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่ลำไส้แต่จำเป็นต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อช่วรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ภายในลำไส้ซึ่งจะต้องอยู่ในปริมาณต่ำ การได้รับโปรไบโอติกที่มากเกินไปอาจจะก่อให้เกิดภาวะการสูญเสียน้ำมากซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดการปวดหัว ท้องเสียหรืออาการท้องผูกได้ ดังนั้นการรับปริมาณโปรไบโอติก  ที่เหมาะสมจึงควรรับในปริมาณน้อยในช่วงสัปดาห์แรกและค่อยเพิ่มปริมาณให้สูงขึ้นในเวลา ต่อมา

         ปกติเราสามารถนำเอาสมุนไพรชนิดต่างๆมาหมักโดยกรรมวิธีที่เป็นภูมิปัญญาโบราณได้โดยไม่มีผลเสียต่อสุขภาพน้ำหมักสมุนไพรควรมีรสเปรี้ยวจนถึงเปรี้ยวจัดปกติค่าความเป็นกรดอยู่ประมาณ 3.8 - 4.2 ซึ่งค่าความเป็นกรดสูง (ตัวเลขต่ำ) น้ำหมักจะมีรสเปรี้ยวมากกว่าน้ำหมักที่มีค่าความเป็นกรดต่ำ (ตัวเลขสูง) ซึ่งก็ถือว่าเป็นน้ำหมักที่ดีเช่นกัน ในถังหมักอาจเกิดแผ่นเมือกลอยอยู่ที่ผิวน้ำหมักในถังถือว่าเป็นเรื่องปกติซึ่งส่วนใหญ่แล้วถือว่าถังหมักถังไหนมีแผ่นเมือก (Biofilm) น้ำหมักก็จะมีคุณภาพดีด้วย การเก็บรักษาน้ำหมักสมุนไพรควรเก็บในภาชนะปิดสนิท หากเปิดให้มีอากาศเข้าจะมีฝ้าขาวหรือมีแผ่นวุ้นบางๆลอยอยู่เหนือผิวหน้าน้ำหมักปกติเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์สามารถรับประทานได้โดยไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ หากเขย่าภาชนะฝ้าขาวก็จะละลายหายไป น้ำหมักที่ดี ควรใส มีกลิ่นหอมอ่อนๆ รสเปรี้ยวพอประมาณ

มะรุม

ชื่อวิทยาศาตร์  : Moringa olifera Lam.

วงศ์  : MORINGACEAE

ชื่อสามัญ   : horseradish tree, drumstick tree, ben oil tree

ชื่อพื้นเมือง  : ผักอีฮึม ผักอีฮุม มะค้อนก้อม กาแน้งเดิง  ผักเนื้อไก่

          "มะรุม"  เป็นพืชกำเนิดแถบใต้เชิงเขาหิมาลัย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่ถูกปลูกไว้ในบริเวณบ้านไทยมาแต่โบราณ ต้นมะรุมพบได้ทุกภาคในประเทศไทย ชื่อมะรุมนี้ เป็นคำเรียกของชาวภาคกลาง หากเป็นทางภาคเหนือจะเรียกว่า "ผักมะค้อนก้อม" ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก "ผักอีฮุม หรือผักอีฮึม" ชาวกะเหรี่ยงแถบกาญจนบุรีเรียก "กาแน้งเดิง" ส่วนชานฉานแถบแม่ฮ่องสอนเรียก "ผักเนื้อไก่" เป็นต้น

(mypicture) 2009519_47042.jpg

ลักษณะต้นมะรุม

          มะรุมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 3-4 เมตร ทรงต้นโปร่ง ใบเป็นแบบขนนก หรือคล้ายกับใบมะขามออกเรียงแบบสลับกัน ผิวใบสีเขียว ด้านล่างสีจะอ่อนกว่าด้านบน ดอกออกเป็นช่อสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ ผลหรือฝักมีความยาว 20-50 เซนติเมตร ลักษณะเหมือนไม้ตีกลอง เปลือกผล หรือฝักเป็นสีเขียวมีส่วนคอด และส่วนมนเป็นระยะตามความยาวของฝัก ฝักแก่ผิวเปลือกเป็นสีน้ำตาล เมล็ดมีเยื่อหุ้มกลมเป็นสีน้ำตาล มีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร  
           มะรุม เป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการน้ำ และความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด และการปักชำ การปลูกการดูแลรักษาก็ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อนเกษตรกรจึงมักนิยมปลูกมะรุมไว้ริมรั้วบ้านหรือหลังบ้าน 1-5 ต้น เพื่อให้เป็นผักคู่บ้านคู่ครัวแบบพอเพียงที่ไม่ต้องซื้อหา

 

คุณค่าทางอาหาร(1)

              ผู้เฒ่าผู้แก่นิยมกินมะรุมในช่วงต้นหนาวเพราะเป็นฤดูกาลของฝักมะรุม หาได้ง่าย รสชาติอร่อยเพราะสดเต็มที่ มีขายตามตลาดในช่วงฤดูกาล คนที่ปลูกมะรุมไว้ในบ้านเท่านั้นจึงจะมีโอกาสลิ้มรสยอดมะรุม ใบอ่อน ช่อดอกและฝักอ่อน ช่อดอกนำไปดองเก็บไว้กินกับน้ำพริก ยอดมะรุม ใบอ่อน ช่อดอก และฝักอ่อนนำมาลวกหรือต้ทให้สุก จิ้มกับน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกแจ่วบอง กินแนมกับลาบ ก้อย แจ่วได้ทุกอย่าง หรือจะใช้ยอดอ่อน ช่อดอกทำแกงส้มหรือแกงอ่อมก็ได้ ส่วนอื่นๆจะใช้ใบมะรุมประกอบอาหารเช่นเดียวกับการใช้ผักขมฝรั่ง หรือปรุงเป็นซอสข้นราดข้าวหรืออาหารแป้งอื่นๆ นอกจากนี้ ใช้ใบตากแห้งป่นเก็บไว้ได้นานโรยอาหาร เช่นเดียวกับที่ภูมิปัญญาอีสานจังหวัดสกลนครใช้ใบมะรุมแห้งปรุงเข้าเครื่อง "ผงนัว" กับสมุนไพรอื่นไว้แต่งรสอาหารมาแต่โบราณ ส่วนฝักอ่อนปรุงอาหารเหมือนถั่วแขก

                มะรุมเป็นพืชมหัศจรรย์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใบมะรุมมีโปรตีนสูงกว่านมสดถึง 2 เท่า  การกินใบมะรุมตามชนบทของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศโลกที่ 3 เป็นการเพิ่มโปรตีนคุณภาพสูงราคาถูกให้กับอาหารพื้นบ้าน นอกจากนี้ มะรุมมีธาตุอาหารปริมาณสูงเป็นพิเศษที่ช่วยป้องกันโรค เช่น

  • วิตามินเอบำรุงสายตามีมากกว่าแครอท 3 เท่า
  • วิตามินซีช่วยป้องกันหวัด 7 เท่าของส้ม
  • แคลเซียมบำรุงกระดูกเกิน 3 เท่าของนมสด
  • โพแทสเซียมบำรุงสมองและระบบประสาท 3 เท่าของกล้วย
  • ใยอาหารและพลังงานไม่สูงมากเหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำหนักอีกด้วย
  • น้ำมันสกัดจากเมล็ดมะรุมมีองค์ประกอบคล้ายน้ำมันมะกอกดีต่อสุขภาพอย่างยิ่ง

          ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นผลิตชาใบมะรุมออกจำหน่าย  ผลิตภัณฑ์ระบุว่าใช้แก้ไขปัญหาโรคปากนกกระจอก หอบหืด อาการปวดหูและปวดศีรษะ  ช่วยบำรุงสายตา ระบบทางเดินอาหาร และช่วยระบายกาก 

            ประเทศอินเดีย หญิงตั้งครรภ์จะกินใบมะรุมเพื่อเสริมธาตุเหล็ก  แต่ที่ประเทศฟิลิปปินส์และบอสวานาหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะกินแกงจืดใบมะรุม (ภาษาฟิลิปปินส์ เรียก "มาลังเก") เพื่อประสะน้ำนมและเพิ่มแคลเซียมให้กับนมแม่เหมือนกับคนไทย

             ใบมะรุม ๑๐๐ กรัม   (คุณค่าทางโภชนาการของอาหารอินเดีย พ.ศ.๒๕๓๗)

พลังงาน ๒๖ แคลอรี

โปรตีน ๖.๗ กรัม (๒ เท่าของนม)

ไขมัน ๐.๑ กรัม

ใยอาหาร ๔.๘ กรัม

คาร์โบไฮเดรต ๓.๗ กรัม

วิตามินเอ ๖,๗๘๐ ไมโครกรัม (๓ เท่าของแครอต)

วิตามินซี ๒๒๐ มิลลิกรัม (๗ เท่าของส้ม)

แคโรทีน ๑๑๐ ไมโครกรัม

แคลเซียม ๔๔๐ มิลลิกรัม (เกิน ๓ เท่าของนม)

ฟอสฟอรัส ๑๑๐ มิลลิกรัม

เหล็ก ๐.๑๘ มิลลิกรัม

แมกนีเซียม ๒๘ มิลลิกรัม

โพแทสเซียม ๒๕๙ มิลลิกรัม (๓ เท่าของกล้วย)

ประโยชน์ทางการแพทย์พื้นบ้าน

  • ราก มีรสเผ็ด หวาน ขม แก้อาการบวม บำรุงไฟธาตุ
  • เปลือกจากลำต้น มีรสร้อน นำมาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ผ้าห่อทำเป็นลูกประคบนึ่งให้ร้อนนำมาใช้ประคบ แก้โรค ปวดหลัง ปวดตามข้อได้เป็นอย่างดี รับประทานเป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้ผายหรือเรอ คุมธาตุอ่อนๆ (ตัดต้นลมดีมาก) แพทย์ตามชนบท จะใช้เปลือกมะรุมสดๆ ตำบุบพอแตกๆ อมไว้ข้างแก้ม แล้วรับประทานสุราจะไม่รู้สึกเมา
  • กระพี้ แก้ไข้สันนิบาดเพื่อลม
  • ใบ ช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน แก้อักเสบ ใบสดมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ มีแคลเซียม วิตามินซี แร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก นอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่า ใบมะรุมมีโปรตีนสูงกว่านมสด 2 เท่า การกินใบมะรุมตามชนบทของประเทศกำลังพัฒนา และประเทศโลกที่ 3 เป็นการเพิ่มโปรตีนคุณภาพสูงราคาถูกให้กับอาหารพื้นบ้าน
  • ดอก ช่วยบำรุงร่างกาย ขับปัสสาวะ ขับน้ำตา ใช้ต้มทำน้ำชาดื่มช่วยให้นอนหลับสบาย
  • ฝัก รสหวาน แก้ไข้หรือลดไข้
  • เมล็ด นำเมล็ดมะรุมมาสกัดน้ำมันสามารถใช้ทำอาหาร รักษาโรคปวดตามข้อ โรคเก๊าท์ รักษาโรครูมาติซั่ม และรักษาโรคผิวหนัง แก้ผิวแห้ง ใช้แทนยารักษาผิวให้ชุ่มชื้น รักษาโรคอันเกิดจากเชื้อรา
  • น้ำมันมะรุม ใช้หยอดจมูกรักษาโรคภูมิแพ้ ไซนัสโรคทางเดินหายใจ ใช้หยอดหูฆ่าและป้องกันพยาธิในหู รักษาอาการเยื่อบุหูอักเสบ รักษาโรคหูน้ำหนวก ใช้ทาผิวหนังรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อราและเชื้อไวรัส รักษาโรคเริม งูสวัด รักษาและบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้น ใช้ทารักษาแผลสด หูด ตาปลา ใช้ถูนวดบรรเทาอาการบริเวณที่ปวดบวมตามข้อ รักษาโรคไขข้ออักเสบ เก๊าท์ รูมาติก เป็นต้น
  • เนื้อในเมล็ดมะรุม ใช้แก้ไอได้ดี การรับประทานเนื้อในเมล็ด เป็นประจำสามารถเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายได้
  • กากของเมล็ด กากที่เหลือจากการทำน้ำมัน สามารถนำมาใช้ในการกรอง หรือทำน้ำให้บริสุทธิ์เป็นน้ำดื่มได้ กากของเมล็ดมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นอย่างยิ่ง และยังสามารถนำมาทำปุ๋ยต่อได้อีกด้วย

องค์ประกอบสำคัญ(2)

  • เปลือกจากลำต้น : moringine, moringinine
  • ลำต้น : vanillin, b -sitosterol, b-sitostenone, 4-hydroxymellin และ octacosanoic acid
  • ยาง : L-arabinose, -galactose, -glucuronic acid, L-rhamnose, -mannose และ -xylose
  • ดอก : amino acids, sucrose, D-glucose, traces of alkaloids, wax, quercetin และ kaempferat

นอกจากนี้ยังพบรงควัตถุที่เป็น flavonoid เช่น  alkaloids, kaempherol, rhamnetin, isoquercitrin และkaempferitrin

  • ฝัก : thiocarbamate และ isothiocyanate glycosides ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต
  • เมล็ด : cytokinins, O-ethyl-4-(α-L-rhamnosyloxy)benzyl carbamate, 4(a-L-rhamnosyloxy) benzyl isothiocyanate, niazimicin, 3-O-(6¢-O-oleoyl-b-D-glucopyranosyl)-b-sitosterol, b-sitosterol-3-O-b-D-glucopyranoside, niazirin, b-sitosterol และ glycerol-1-(9-octadecanoate)
  • ใบ : ประกอบไปด้วยสารที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น ascorbic acid, flavonoids, phenolics และ carotenoids, oestrogenic substances, b-sitosterol , iron, calcium, phosphorus, copper, vitamins

A, B and C, a-tocopherol, riboflavin, nicotinic acid, folic acid, pyridoxine, b-carotene, protein, essential amino acids เช่น methionine, cystine, tryptophan and lysine

  • น้ำมันจากเมล็ด : ประกอบไปด้วย sterol ได้แก่ campesterol, stigmasterol, b-sitosterol, D5-avenasterol, clerosterol, 24-methylenecholesterol, D7-campestanol, stigmastanol และ 28-isoavenasterol  นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยกรดไขมันเช่น  oleic oils (C18:1, 67.90%-76.00%), C16:0 (6.04%-7.80%), C18:0 (4.14%-7.60%), C20:0 (2.76%-4.00%) และ C22:0 (5.00%-6.73%)

        น้ำมันจากเมล็ดมะรุมอุดมไปด้วย tocopherols (a-, g- และ d -) ในความเข้มข้น 98.82-134.42, 27.90-93.70, and 48.00- 71.16 mg/kg ตามลำดับ

 

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

  •  ฤทธิ์ลดความดันโลหิต

          Gilani และคณะ(3)ได้ศึกษาสารสกัดเอทานอลจากใบพบว่ามีสารสำคัญคือ niazinin A , niazinin B , niazimicin  และniaziminin A + B พบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิตและทำให้หัวใจเต้นช้าลง  นอกจากนี้ยังพบว่ามีผลยับยั้งการบีบตัวของมดลูกและลดการหดเกร็งในช่องท้องซึ่งน่าจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้

          จาก review ของ Anwar และคณะ(2) กล่าวว่าน้ำคั้นจากใบมะรุมทำให้ความดันโลหิตคงที่ได้ ซึ่งสารสำคัญในส่วนใบที่ทำหน้าที่ลดความดันได้แก่ Nitrile, mustard oil glycosides และ thiocarbamate glycosides  ส่วนสารในกลุ่ม niazinin A , niazinin B , niazimicin  และ niaziminin A + B สามารถออกฤทธิ์ลดความดันโดยผ่านกลไกการเป็น calcium antagonist นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ลดความดันโลหิตของส่วนอื่นๆนอกเหนือจากใบได้แก่ เปลือกฝัก เนื้อผลและเมล็ด  พบว่าเมล็ดเป็นส่วนที่ให้ฤทธิ์ดีที่สุด และพบว่าสารออกฤทธิ์ในส่วนฝักได้แก่ thiocarbamate, isothiocyanate glycosides, methyl phydroxybenzoate และ b-sitosterol

          นอกจากนี้ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของมะรุมอาจสืบเนื่องมาจากฤทธิ์ขับปัสสาวะของมะรุมซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

  •  ฤทธิ์ขับปัสสาวะ

          มีการศึกษาพบฤทธิ์ขับปัสสาวะของสารสกัดจากราก ดอก ยาง และเมล็ดของมะรุม(2) ส่วนการศึกษาของ Caceres และคณะ(4) ทำการแช่ส่วนดอก ใบ ราก เมล็ด ก้านใบ และเปลือกของมะรุมในน้ำร้อน  พบว่าน้ำที่ได้จากการแช่ส่วนรากมะรุมแสดงฤทธิ์ขับปัสสาวะที่ 1000 mg/kg ( dose เทียบจากน้ำหนักพืชแห้ง)

  •  ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล

          จาก review ของ Anwar(2) กล่าวว่าสารสสกัดจากส่วนใบมีฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลซึ่งสารออกฤทธิ์น่าจะเป็น b-sitosterol(5)  ในขณะที่มีการศึกษาผลของผลมะรุมต่อกระต่ายที่มีระดับไขมันในเลือดสูง(6) โดยแบ่งกลุ่มทดลองเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ได้มะรุมและยา (Simvastatin) มีระดับคอเลสเตอรอล ฟอสโฟไลพิด ไตรกลีเซอไรด์ VLDL LDL ปริมาณคอเลสเทอรอลต่อฟอสโฟไลพิด และ atherogenic index ต่ำลง ทั้ง 2 กลุ่มมีการสะสมไขมันในตับ หัวใจ และหลอดเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ตา) ลดลง กลุ่มที่กินมะรุมพบการขับคอเลสเทอรอลในอุจจาระเพิ่มขึ้น

          นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของ Chumark และคณะ(7) พบว่าสารสกัดจากใบมะรุมมีฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลได้ถึง 50% อีกทั้งยังลดการเกิด atherosclerotic plaque ได้ 86% เมื่อเทียบกับ Simvastatin

  •  ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

          Chumark และคณะ(7) ได้ศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากใบมะรุมโดยใช้ DPPH และ TroloxÒ ได้ค่า IC50 เท่ากับ 78.15±0.92 และ 2.14±0.12_g/ml ตามลำดับ

          มีการศึกษาสารที่แยกได้จากรากมะรุมได้แก่ β-Sitosterol-3-O- β-D-glucopyranoside และ 4-(isothiocyanatomethyl) phenol พบว่าเฉพาะสาร β-Sitosterol-3-O- β-D-glucopyranoside เท่านั้นที่แสดงฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ(8)

มีการศึกษาสารสกัดน้ำมันจากเมล็ดมะรุมพบว่าสารสำคัญคือ 3,5,7,3¢,4¢,5¢-hexahydroxyflavone (myricetin) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่า BHT และ a-tocopherol ที่ได้จากเมล็ดทานตะวันที่ใช้เป็นตัวเปรียบเทียบ(9)

  •  ฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของช่องท้อง

จากการศึกษาของ Caceres และคณะ(4) พบว่าน้ำที่ได้จากการแช่เมล็ดมะรุม (infusion) มีฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของ isolated duodenum เมื่อถูกกระตุ้นด้วย acetylcholine โดยมีค่า ED50 อยู่ที่ความเข้มข้น 65.6 mg/ml

จาก review ของ Anwar กล่าวถึงการศึกษาพบว่าส่วนรากของมะรุมมีฤทธิ์ต้านการหดเกร็ง แต่ส่วนที่มีการศึกษาถึงฤทธิ์นี้กันอย่างแพร่หลายคือ ส่วนใบ โดยพบว่าสารสกัดเอทานอลของใบมะรุมมีฤทธิ์ต้านการหดเกร็งโดยผ่านกลไกการยับยั้ง Calcium channel ซึ่งสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ได้แก่ 4-[a-(L-rhamnosyloxy) benzyl]-o-methyl thiocarbamate (trans) จึงทำให้มีการใช้มะรุมในทางการแพทย์พื้นบ้านในโรคเกี่ยวกับความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวลำไส้

  •  ฤทธิ์ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร

จากการศึกษาของ Pal และคณะ(10) พบว่าสารสกัดเมทานอลของส่วนใบมะรุมมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการกระตุ้นด้วย acetylsalicylic acid, serotonin และ  indomethacin นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถเร่งการสมานแผลในกระเพาะอาหารชนิดเรื้อรังที่เกิดจากการกระตุ้นด้วย acetic acid ในการทดลองอีกด้วย

  •  ฤทธิ์ปกป้องตับ

จากการศึกษาของ Patel และคณะ(11) พบว่าสารสกัดเอทานอลของผลมะรุมสามารถป้องกันการถูกทำลายของเซลล์ตับโดยใช้ Silymarin เป็นตัวเปรียบเทียบ  พบว่าสารสกัดมะรุมสามารถลดการเพิ่มขึ้นของ GPT, GOT, lipid peroxidation and %viability เนื่องจากการถูกกระตุ้นด้วย CCl4 ในการทดลอง โดยสารสกัดเอทานอลที่ความเข้มข้นต่ำๆเพียง 0.01 mg/l ก็สามารถแสดงฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับได้ โดยฤทธิ์ดังกล่าวนี้อาจสัมพันธ์กับความสามารถในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของมะรุม

จากการศึกษาของ Nadro และคณะ(12) พบว่าสารสกัดด้วยน้ำของส่วนใบมะรุมมีฤทธิ์ในการปกป้องเซลล์ตับจากการถูกทำลายโดยการกระตุ้นด้วยแอลกอฮอล์ในการทดลอง  โดยพบว่าหนูทดลองกลุ่มที่ได้รับสารสกัดมะรุม (100 และ 200 mg/kg) ก่อนที่จะได้รับแอลกอฮอล์จะมีค่าเอนไซม์ต่างๆที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงการถูกทำลายของตับลดลง ได้แก่ ALT, AST และ ALP รวมถึง lipid peroxidation ในขณะที่มีระดับ vitamin C ในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดมะรุม โดยผลจะแปรผันตามความเข้มข้นของสารสกัดมะรุมที่ได้รับ และเมื่อทดลองให้สารสกัดมะรุม (200 mg/kg) หลังจากการกระตุ้นด้วยแอลกอฮอล์   พบว่าในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดมะรุมจะมีการฟื้นสภาพของเซลล์ตับหลังจากถูกทำลายเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด โดยคาดว่ากลไกในการปกป้องเซลล์ตับจากการถูกทำฃายของแอลกอฮอล์อาจเนื่องมาจากความสามารถของมะรุมในการยับยั้ง lipid peroxidation รวมถึงฤทธิ์ในการป้องกันการลดระดับของ vitamin C

จาก review ของ Anwar(2) พบว่าส่วนรากของมะรุมมีฤทธิ์ปกป้องตับ  นอกจากนี้สารสกัดแอลกอฮอล์จากส่วนดอกของมะรุมก็มีฤทธิ์เช่นเดียวกันโดยสารสำคัญที่ทำหน้าที่ปกป้องตับคือ quercetin ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม Flavonoid ที่สำคัญที่มีฤทธิ์ในการปกป้องตับ

  •  ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

                จาก review ของ Anwar(2) กล่าวว่าส่วนรากของมะรุมอุดมไปด้วยสารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา เช่น pterygospermin เป็นต้น สารที่มีฤทธิ์ดังกล่าวนี้ยังพบได้ในส่วนดอกของมะรุมด้วย มีการศึกษาพบสารออกฤทธิ์อื่นๆในส่วนรากได้แก่ 4-a-L-rhamnosyloxy benzyl isothiocyanate , aglycone of deoxy-niazimicine (N-benzyl, S-ethyl thioformate) ที่ได้จากการสกัดเปลือกรากด้วยคลอโรฟอร์ม  นอกจากนี้ส่วนเปลือกของลำต้นก็มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา โดยน้ำคั้นที่ได้จากเปลือกมีฤทธิ์ยับยั้ง Staphylococcus aureus  ส่วนน้ำคั้นจากใบสามารถยับยั้งเชื้อก่อโรคในมนุษย์ได้แก่  Pseudomonas aeruginosa และ Staphylococcus aureus

จากการศึกษาของ Chuang และคณะ(13) พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดและใบมะรุมมีฤทธิ์ต้านเชื้อราในหลอดทดลอง คือเชื้อในกลุ่ม dermatophyte เช่น Trichophyton rubrum, Trichophyton mentagrophytes, Epidermophyton Xoccosum และ Microsporum canis และจากการวิเคราะห์องค์ประกอบสำคัญพบว่ามีน้ำมันหอมระเหยอยู่กว่า 44 ชนิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไปในการแยกสารออกฤทธิ์มาพัฒนาตำรับยาสำหรับโรคผิวหนัง

  •  ฤทธิ์ในการรักษาโรคเริม (14)

จากการทดสอบประสิทธิภาพสารสกัดจากพืชไทยที่มีฤทธิ์ยับยั้ง herpes simplex virus type 1ในin vitro และ in vivo พบว่าพืช 11 ชนิดจาก 20 ชนิดที่ทดสอบโดย plaque reduction assay สามารถยับยั้งการสร้าง plaque ของ herpes simplex virus type 1ได้มากกว่า 50% ที่ 100 ug/ml โดยมะรุมเป็นพืช 1 ใน 11 นั้นด้วย มีการทดสอบประสิทธิภาพการรักษาโรคเริมในหนู โดยให้สารสกัดมะรุม 750 mg/kg ต่อหนึ่งวันพบว่าชะลอการเกิดแผลที่ผิวหนัง(skin lesions) ช่วยยืดอายุ และลดอัตราการตายอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสารละลาย 2% DMSO และเมื่อเปรียบเทียบกับ acyclovir ในแง่ประสิทธิภาพในการรักษาพบว่าไม่แตกต่างกัน ส่วนความเป็นพิษยังไม่ได้ศึกษา

  •  ฤทธิ์ต้านมะเร็งและเนื้องอก

                จาก review ของ Anwar(2) กล่าวถึงการศึกษาของ Makonnen และคณะที่พบว่าใบของมะรุมเป็นแหล่งที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็ง ได้มีการทดสอบฤทธิ์ของสาร O-Ethyl-4-(α-L-rhamnosyloxy)benzyl carbamate กับ 4(α-L-rhamnosyloxy)-benzyl isothiocyanate, niazimicin และ 3-O-(6'-O -O-oleoyl-β-D-glucopyranosyl)-β-sitosterol ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองแสดงฤทธิ์ต้านการกระตุ้น  Epstein-Barr virus-early antigen โดยมีการศึกษาที่รายงานว่า niazimicin เป็นสารป้องกันการก่อมะเร็งที่ดีมาก

มีการศึกษาสารสกัดจากเมล็ดพบว่ามีประสิทธิภาพต่อเอนไซม์ที่เมทาบอไลซ์สารก่อมะเร็งในตับ มีผลต่อการต้านอนุมูลอิสระ และสามารถต่อต้านการเกิดเนื้องอกที่ผิวหนังหนูได้

                สารเหนียวจากเมล็ดมีฤทธิ์เหมือนกับยา neomycin ต่อต้านเชื้อ Staphylococcus aureus pyodermia ในหนู นอกจากนี้ยังพบ niaziminin ซึ่งเป็นสารจำพวก thiocarbamate จากใบของมะรุม ยับยั้งการกระตุ้น tumor-promoter-induced Epstein-Barr virus เช่นเดียวกับสารในกลุ่มของ isothiocyanate ได้แก่ 4-[(4'-O-acetyl-α-i-rhamnosyloxy) benzyl ก้สามารถยับยั้งการกระตุ้น tumor-promoterinduced Epstein-Barr virus ได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงมีการเสนอว่า isothiocyano group เป็น critical structural factor สำหรับการออกฤทธิ์

สารเบนซิลไทโอไซยาเนตไกลโคไซด์ชนิดหนึ่งและสารไนอาซิไมซิน (niazimicin) จากมะรุมสามารถต้านการเกิดมะเร็งที่ถูกกระตุ้นโดยสารฟอบอลเอสเทอร์ในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ การทดลองในหนูพบว่าหนูที่ได้รับฝักมะรุมเป็นอาหารเกิดโรคมะเร็งผิวหนังจากการกระตุ้นน้อยกว่ากลุ่มทดลอง โดยกลุ่มที่กินมะรุมมีเนื้องอกบนผิวหนังน้อยกว่ากลุ่มควบคุม

  •  ฤทธิ์ควบคุมระดับ Thyroid hormone

จากการศึกษาของ Tahiliani และคณะ(15) พบว่าสารสกัดจากใบมะรุมสามารถควบคุมระดับ thyroid hormone  ได้  โดยพบว่าในหนูทดลองกลุ่มที่ได้รับสารสกัดมีระดับ triiodothyronine (T3)

ในเลือดลดลง ในขณะที่ระดับ thyroxine (T4) เพิ่มขึ้น ผลดังกล่าวนี้จะสังเกตเห็นในหนูทดลองเพศเมียได้ชัดเจนกว่าเพศผู้   โดยกลไกการออกฤทธิ์มาจากความสามารถของสารสกัดในการยับยั้งการเปลี่ยน T4 ไปเป็น T3  ซึ่งออกฤทธิ์ได้ที่ความเข้มข้นต่ำๆ (170 mg/kg) จึงสามารถใช้ควบคุมระดับฮอร์โมนในผู้ป่วย hyperthyroidism ได้

  •  ฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง

จากการศึกษาของ Gupta และคณะ(16) พบว่าสารสกัดเมทานอลจากส่วนรากของมะรุมสามารถเสริมผลของ pentobarbitone sodium, diazepam และ meprobamate โดยเพิ่มเวลาในการนอนหลับ  นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์แก้ปวดและเสริมฤทธิ์แก้ปวดของ morphine และ pethidine  และเมื่อให้สารสกัดก่อนการกระตุ้นด้วย strychnine และ leptazol สามารถป้องกันการชักของหนูทดลองได้ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงฤทธิ์ผ่อนคลายหรือกดระบบประสาทส่วนกลางของสารสกัดมะรุม 

 

  •  ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

จากการศึกษาของ Manjari และคณะ(17) กล่าวว่าพืชส่วนใหญ่ที่ประกอบไปด้วยกลุ่ม glycoside  มักมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด  เช่นเดียวกับมะรุม  โดยจากการศึกษาพบว่าสารสกัดเมทานอลจากใบมะรุม (1000 mg/kg) ไม่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ในขณะที่สารสกัดเอทานอลจากใบมะรุม (1000 mg/kg) มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ในหนูที่เป็นเบาหวานที่ถูกกระตุ้นด้วย alloxane

  •  ฤทธิ์ลดการเกิดนิ่วในไต

จากการศึกษาของ Karadi และคณะ(18) พบว่าสารสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์จากรากและเนื้อไม้มะรุม  สามารถลดการเพิ่มขึ้นของออกซาเลตในทางเดินปัสาวะ และยังควบคุมการสังเคราะห์ออกซาเลตในร่างกายในหนูที่ได้รับการกระตุ้นโดย ethylene glycol ให้เกิดภาวะ hyperoxaluria

นั่นคือสามารถช่วยลดการสะสมของสารที่เป็นต้นเหตุของนิ่วในไต  จึงสรุปได้ว่าสารสกัดจากมะรุมและมีฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดนิ่วในไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เอกสารอ้างอิง

1.            สุธาทิพย์ ภมรประวัติ. มะรุม ลดไขมันป้องกันมะเร็ง. กลุ่มวิชาเภสัชโภชนศาสตร์ โครงการบัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

2.            Anwar F, Latif S, Ashraf M, Gilani AH. Moringa oleifera: A food plant with multiple medicinal uses. Phytotherapy research. 2007;21:17-25.

3.            Gilani AH, Aftab K, Suria A, Siddiqui S, Salem R. Pharmacological studies on hypotensive and spasmolytic activities of pure compounds from Moringa oleifera Phytotherapy research. 2006;8(2):87-91.

4.            Caceres A, Saravia A, Rizzo S, Zabala L, De Leon E, Nave F. Pharmacologie properties of Moringa oleifera. 2: Screening for antispasmodic, antiinflammatory and diuretic activity. Journal of Ethnopharmacology. 1992;36(3):233-7.

5.            Ghasi S, Nwobodo E, Ofili JO. Hypocholesterolemic effects of crude extract of leaf of Moringa oleifera Lam in high-fat diet fed wistar rats. Journal of Ethnopharmacology. 2000;69:21-5.

6.            Mehta LK, Balaraman R, Aminb AH, Bafna PA, Gulati OD. Effect of fruits of Moringa oleifera on the lipid profile of normal and hypercholesterolaemic rabbits. Journal of Ethnopharmacology. 2003;86:191-5.

7.            Chumark P, Khunawat P, Sanvarinda Y, Phornchirasilp S, Morales NP. The in vitro and ex vivo antioxidant properties, hypolipidaemic and antiatherosclerotic activities of water extract of Moringa oleifera Lam. leaves. Journal of Ethnopharmacology. 2008;116:439-46.

8.            Yammuenart D, Chavasiri W, Pongrapeeporn K-u. Chemical constituents and their bioolgical activity of Moringa oleifera Lam. Natural Products Research Unit, Department of Chemistry, Faculty of Science, Chulalongkorn University.

9.            Lalas S, Tsaknis J. Extraction and identification of natural antioxidant from the seeds of the Moringa oleifera tree Variety of Malawi. JAOCS. 2002;79(7).

10.          Pal SK, Mukherjee PK, Saha BP. Studies on the antiulcer activity of Moringa oleifera leaf extract on gastric ulcer models in rats. Phytotherapy research. 2006;9(6):463-5.

11.          Patel RK, Patel MM, Patel MP, Kanzaria NR, Vaghela KR. Hepatoprotective activity of Moringa oleifera Lam. fruit on isolated rat hepatocytes. Pharmacognosy magazine 2008;4(15(suppl)):s118-s23.

12.          Nadro MS, Arungbemi RM, Dahiru D. Evaluation of Moringa oleifera leaf extract on alcohol-induced hepatotoxicity. Tropical Journal of Pharmaceutical Research. 2006;5(1):539-44.

13.          Chuang P-H, Lee C-W, Chou J-Y, Murugan M, Shieh B-J. Anti-fungal activity of crude extracts and essential oil of Moringa oleifera Lam. Bioresource Technology. 2007;98:232-6.

14.          Lipipun V, Krokawa M, Suttisri R, Taweechotipatr P, Pramyothin P. Efficacy of Thai medicinal plant extracts against herpes simplex virus type 1 infection in vitro and in vivo. Department of Microbiology, Faculty of Pharmaceutical Sciences, Chulalongkorn University.

15.          Tahiliani P, Kar A. Role of Moriga oleifera leaf extract in the regulation of thyroid hormone status in adult male and female rats. Pharmacological Research. 1999;41(3):319-23.

16.          Gupta M, Mazumder Uk, Chakrabarti S. CNS activities of methanolic extract of Moringa oleifera root in mice. Fitoterapia 1999;70:244-50.

17.          Manjari M, Piyush M, C AA. Pharmacognostical and phytochemical investigation of antidiabetic activity of Moringa oleifera lam leaf The Indian Pharmacist 2007;6(59):70-2.

18.          Karadi RV, Gadgeb NB, Alagawadi KR, Savadi RV. Effect of Moringa oleifera Lam. root-wood on ethylene glycol induced urolithiasis in rats. Journal of Ethnopharmacology. 2005;105:306-11.

 


พลูคาว

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Houttuynia cordata Thun. วงศ์  : Saururaceae

(mypicture) 2009517_63638.jpg

ชื่อเรียกอื่นๆมีมากมายเช่น

           พลูคาว (กลาง), ผักคาวตอง (เชียงใหม่), ผักก้านตอง, ผักเข้าตอง, พลูแก, ผักคาวทอง (อุดรธานี-อีสาน), อื้อซิงเฉ่า (จีนกลาง), หื่อแชเช่า (จีนแต้จิ๋ว) เป็นพืชพื้นเมืองของญี่ปุ่น เกาหลี ภาคใต้ของจีน ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพืชล้มลุก อยู่ได้หลายปี มีกลิ่นฉุนคล้ายคาวปลา ใบเดี่ยว เวียนสลับรูปใบคล้ายหัวใจ เจริญเติบโตได้ดีในที่ราบจนถึงที่สูง 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล  พลูคาวมีไหลใต้ดิน สูงราว 10-30 เซนติเมตร ดอกสีขาวอมเหลือง พลูคาวเป็นพืชคลุมดินดี ขยายตัวเร็ว รากจะยึดหน้าดินได้ดี

           การใช้ประโยชน์พื้นบ้าน นอกจากใช้เป็นผักแล้วยังใช้ต้มกับปลาหรือไข่เป็ดช่วยดับกลิ่นคาว ในภูมิภาคเอเชียใช้ทั้งต้น บรรเทาอาการของริดสีดวงทวาร ขับปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ แก้ลมพิษ ใบแก้บิด ในประเทศเกาหลียังใช้ผักคาวตองในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดแข็งและมะเร็ง ฯ ในจีนทั้งต้นใช้ขับปัสสาวะ โรคทางเดินปัสสาวะ ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีและอินเดีย ใช้ทั้งต้น เป็นยาลดไข้ ขจัดสารพิษ รักษาแผลในกระเพาะและอาการอักเสบ รวมทั้งรักษาพิษแมลง กัด ต่อย ใบใช้กินเป็นอาหาร คนแถบยูนาน ภาคใต้ของจีนนิยมนำรากพลูคาวมาปรุงเป็นอาหาร ในญี่ปุ่นนำใบพลูคาวมาทำเป็นชาชงรับประทานสำหรับในประเทศไทย ใช้ผักคาวตองในยาแผนโบราณ และยาพื้นเมืองมานานแล้ว โดยใช้ใบเป็นยาแก้กามโรค ทำให้น้ำเหลืองแห้ง แก้โรคผิวหนัง แก้พิษฝี  ต้นแก้ริดสีดวง ชาวเขาเผ่าม้งใช้ผักคาวตองเป็นยารักษามาเลเรีย

           พลูคาวมีสารประกอบทางเคมีที่สำคัญหลายชนิด  ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารประกอบอื่นๆในพลูคาวที่น่าสนใจเช่น ทำลายเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้หลายชนิด ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ก่อโรคที่สำคัญหลายชนิดในหลอดทดลองได้ พลูคาวมีฤทธิ์ต้านการอักเสบบวมแดงได้ ออกฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโดยกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ภูมิคุ้มกันได้ ส่วนความเป็นพิษของพลูคาวพบว่ามีความเป็นพิษน้อยมาก

           ในประเทศไต้หวันพบว่าน้ำหมักพืชหลายชนิดช่วยลดการแพ้ในเด็กได้ จึงมีการทดลองการใช้น้ำหมักพืชหลายๆชนิดรวมทั้งน้ำหมักพลูคาวพบว่ามีกลไกในการกดสารแพ้สัมผัสได้ มีงานการศึกษาวิจัยที่น่าสนใจที่แสดงถึงคุณประโยชน์ของสมุนไพรพลูคาว เป็นโครงการคัดกรองสมุนไพรกำจัดเชื้อไวรัส ของ "ศูนย์ป้องกันทางการแพทย์แห่งชาติจีน" ซึ่งการทำงานได้ประสบผลสำเร็จในการคัดกรองสารสมุนไพรประมาณ 100 ชนิด ที่มีผลยับยั้งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิด SARSได้แล้วสารเหล่านี้คัดกรองมาจากสารประกอบกลุ่มเป็บไทด์และสารสกัดสมุนไพรประมาณ 12,000 ชนิด ในบรรดาสารสมุนไพรทั้งหลายที่นำมาวิจัยในครั้งนี้ด้วย นักวิทยาศาสตร์พบว่าหนึ่งในสาร 12,000 ชนิด ดังกล่าว สารสกัดจากพลูคาวซึ่งเป็นสมุนไพรที่เป็นตัวยาประกอบทั่วไปในตำรับยาจีน สามารถป้องกันเซลล์ไม่ให้ติดเชื้อไวรัส SARS ในหลอดทดลองได้ อีกทั้งสามารถฆ่าเชื้อไวรัส SARS ในเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส SARS

ทีมงานทดลองไวรัส SARS

(mypicture) 2009518_35222.jpg

The research and development team

of Chinese herbs at the National Defense Medical Center.

           พลูคาวมีสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการสลายตัวของโปรตีน (protein fragmentation) ป้องกันการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylactic shock) ข้อมูลการประยุกต์ใช้พลูคาวในComplementary and Alternative Healing University กล่าวว่า สมุนไพรพลูคาวมีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้กับโรคหรืออาการต่างๆในทางการแพทย์หลายชนิดเช่น

  • 1. รักษาโรคทางเดินหายใจอักเสบ( For treating inflammation of the respiratory tract)
  • 2. รักษาโรคหลอดลมขยายตัวมากเกินไป(For treating over expansion of bronchi)
  • 3. รักษาโรคไอกรน
  • 4. รักษาอาการคั่งน้ำในอกจากโรคคมะเร็ง(For water retention in the chest cavity caused by cancer)
  • 5. ป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัด(For preventing infection after surgery )
  • 6. ลดไข้(For lowering fever)
  • 7. รักษาโรคท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรีย(For treating bacterial diarrhea)
  • 8. รักษาตับอักเสบชนิดดีซ่าน(For treating jaundice type of hepatitis)
  • 9. รักษาอาการไตผิดปกติ (For treating kidney multiple syndromes)
  • 10. รักษาแผลอักเสบคอมดลูก(For treating ulceration of the neck of uterus)
  • 11. รักษาการอักเสบบริเวณกระดูกเชิงกราน(For treating inflammation of the pelvic area)
  • 12. รักษาการอักเสบชนิดธรรมดาบริเวณแก้วตา(For treating simple type of inflammation of the cornea)
  • 13. รักษาการอักเสบในโพรงจมูก(For treating sinus inflammation of the nose)
  • 14. รักษาการอักเสบมีหนองในหูชั้นกลาง(For treating inflammation ( with pus) of the middle ear)
  • 15. รักษาโรคหัด(For treating measles)
  • 16. รักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบจากการระบาด(For treating epidemic type of tonsillitis)
  • 17. รักษาเนื้องอกในเส้นเลือด(For treating tumors of the blood vessels)
  • 18. ป้องกันโรคจากพยาธิ์หัวใจ(For preventing leptospira disease)

หากท่านใดสนใจต้องการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม

(mypicture) 2009518_36477.jpg

           สามารถหาอ่านเรื่องพลูคาวได้จากหนังสือ สมุนไพรน่ารู้ (1) "ผักคาวตอง" จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีการจัดพิมพ์มา 3 ครั้งแล้ว ในเล่มมีรายละเอียดให้ศึกษาในตัวสมุนไพรเพิ่มเติมมากมาย นอกจากนี้ยังมีรายงานเกี่ยวกับการใช้ในประเทศอื่นๆเช่นจีนหรือการนำสมุนไพรพลูคาวไปจดสิทธิบัตรในการรักษาโรคมากมายหลายสิทธิบัตรอีกด้วย

 

Advertising Zone    Close


Online: 1 Visits: 30,607 Today: 2 PageView/Month: 14

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...