COSMEDTHAI http://cosmedthai.siam2web.com/

มะรุม

ชื่อวิทยาศาตร์  : Moringa olifera Lam.

วงศ์  : MORINGACEAE

ชื่อสามัญ   : horseradish tree, drumstick tree, ben oil tree

ชื่อพื้นเมือง  : ผักอีฮึม ผักอีฮุม มะค้อนก้อม กาแน้งเดิง  ผักเนื้อไก่

          "มะรุม"  เป็นพืชกำเนิดแถบใต้เชิงเขาหิมาลัย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่ถูกปลูกไว้ในบริเวณบ้านไทยมาแต่โบราณ ต้นมะรุมพบได้ทุกภาคในประเทศไทย ชื่อมะรุมนี้ เป็นคำเรียกของชาวภาคกลาง หากเป็นทางภาคเหนือจะเรียกว่า "ผักมะค้อนก้อม" ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก "ผักอีฮุม หรือผักอีฮึม" ชาวกะเหรี่ยงแถบกาญจนบุรีเรียก "กาแน้งเดิง" ส่วนชานฉานแถบแม่ฮ่องสอนเรียก "ผักเนื้อไก่" เป็นต้น

ลักษณะต้นมะรุม

          มะรุมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 3-4 เมตร ทรงต้นโปร่ง ใบเป็นแบบขนนก หรือคล้ายกับใบมะขามออกเรียงแบบสลับกัน ผิวใบสีเขียว ด้านล่างสีจะอ่อนกว่าด้านบน ดอกออกเป็นช่อสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ ผลหรือฝักมีความยาว 20-50 เซนติเมตร ลักษณะเหมือนไม้ตีกลอง เปลือกผล หรือฝักเป็นสีเขียวมีส่วนคอด และส่วนมนเป็นระยะตามความยาวของฝัก ฝักแก่ผิวเปลือกเป็นสีน้ำตาล เมล็ดมีเยื่อหุ้มกลมเป็นสีน้ำตาล มีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร 
              มะรุม เป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการน้ำ และความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด และการปักชำ การปลูกการดูแลรักษาก็ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อนเกษตรกรจึงมักนิยมปลูกมะรุมไว้ริมรั้วบ้านหรือหลังบ้าน 1-5 ต้น เพื่อให้เป็นผักคู่บ้านคู่ครัวแบบพอเพียงที่ไม่ต้องซื้อหา

 

คุณค่าทางอาหาร(1)

              ผู้เฒ่าผู้แก่นิยมกินมะรุมในช่วงต้นหนาวเพราะเป็นฤดูกาลของฝักมะรุม หาได้ง่าย รสชาติอร่อยเพราะสดเต็มที่ มีขายตามตลาดในช่วงฤดูกาล คนที่ปลูกมะรุมไว้ในบ้านเท่านั้นจึงจะมีโอกาสลิ้มรสยอดมะรุม ใบอ่อน ช่อดอกและฝักอ่อน ช่อดอกนำไปดองเก็บไว้กินกับน้ำพริก ยอดมะรุม ใบอ่อน ช่อดอก และฝักอ่อนนำมาลวกหรือต้ทให้สุก จิ้มกับน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกแจ่วบอง กินแนมกับลาบ ก้อย แจ่วได้ทุกอย่าง หรือจะใช้ยอดอ่อน ช่อดอกทำแกงส้มหรือแกงอ่อมก็ได้ ส่วนอื่นๆจะใช้ใบมะรุมประกอบอาหารเช่นเดียวกับการใช้ผักขมฝรั่ง หรือปรุงเป็นซอสข้นราดข้าวหรืออาหารแป้งอื่นๆ นอกจากนี้ ใช้ใบตากแห้งป่นเก็บไว้ได้นานโรยอาหาร เช่นเดียวกับที่ภูมิปัญญาอีสานจังหวัดสกลนครใช้ใบมะรุมแห้งปรุงเข้าเครื่อง "ผงนัว" กับสมุนไพรอื่นไว้แต่งรสอาหารมาแต่โบราณ ส่วนฝักอ่อนปรุงอาหารเหมือนถั่วแขก

                มะรุมเป็นพืชมหัศจรรย์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใบมะรุมมีโปรตีนสูงกว่านมสดถึง 2 เท่า  การกินใบมะรุมตามชนบทของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศโลกที่ 3 เป็นการเพิ่มโปรตีนคุณภาพสูงราคาถูกให้กับอาหารพื้นบ้าน นอกจากนี้ มะรุมมีธาตุอาหารปริมาณสูงเป็นพิเศษที่ช่วยป้องกันโรค เช่น

  • วิตามินเอบำรุงสายตามีมากกว่าแครอท 3 เท่า
  • วิตามินซีช่วยป้องกันหวัด 7 เท่าของส้ม
  • แคลเซียมบำรุงกระดูกเกิน 3 เท่าของนมสด
  • โพแทสเซียมบำรุงสมองและระบบประสาท 3 เท่าของกล้วย
  • ใยอาหารและพลังงานไม่สูงมากเหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำหนักอีกด้วย
  • น้ำมันสกัดจากเมล็ดมะรุมมีองค์ประกอบคล้ายน้ำมันมะกอกดีต่อสุขภาพอย่างยิ่ง

          ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นผลิตชาใบมะรุมออกจำหน่าย  ผลิตภัณฑ์ระบุว่าใช้แก้ไขปัญหาโรคปากนกกระจอก หอบหืด อาการปวดหูและปวดศีรษะ  ช่วยบำรุงสายตา ระบบทางเดินอาหาร และช่วยระบายกาก 

            ประเทศอินเดีย หญิงตั้งครรภ์จะกินใบมะรุมเพื่อเสริมธาตุเหล็ก  แต่ที่ประเทศฟิลิปปินส์และบอสวานาหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะกินแกงจืดใบมะรุม (ภาษาฟิลิปปินส์ เรียก "มาลังเก") เพื่อประสะน้ำนมและเพิ่มแคลเซียมให้กับนมแม่เหมือนกับคนไทย

             ใบมะรุม ๑๐๐ กรัม   (คุณค่าทางโภชนาการของอาหารอินเดีย พ.ศ.๒๕๓๗)

พลังงาน ๒๖ แคลอรี

โปรตีน ๖.๗ กรัม (๒ เท่าของนม)

ไขมัน ๐.๑ กรัม

ใยอาหาร ๔.๘ กรัม

คาร์โบไฮเดรต ๓.๗ กรัม

วิตามินเอ ๖,๗๘๐ ไมโครกรัม (๓ เท่าของแครอต)

วิตามินซี ๒๒๐ มิลลิกรัม (๗ เท่าของส้ม)

แคโรทีน ๑๑๐ ไมโครกรัม

แคลเซียม ๔๔๐ มิลลิกรัม (เกิน ๓ เท่าของนม)

ฟอสฟอรัส ๑๑๐ มิลลิกรัม

เหล็ก ๐.๑๘ มิลลิกรัม

แมกนีเซียม ๒๘ มิลลิกรัม

โพแทสเซียม ๒๕๙ มิลลิกรัม (๓ เท่าของกล้วย)

ประโยชน์ทางการแพทย์พื้นบ้าน

  • ราก มีรสเผ็ด หวาน ขม แก้อาการบวม บำรุงไฟธาตุ
  • เปลือกจากลำต้น มีรสร้อน นำมาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ผ้าห่อทำเป็นลูกประคบนึ่งให้ร้อนนำมาใช้ประคบ แก้โรค ปวดหลัง ปวดตามข้อได้เป็นอย่างดี รับประทานเป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้ผายหรือเรอ คุมธาตุอ่อนๆ (ตัดต้นลมดีมาก) แพทย์ตามชนบท จะใช้เปลือกมะรุมสดๆ ตำบุบพอแตกๆ อมไว้ข้างแก้ม แล้วรับประทานสุราจะไม่รู้สึกเมา
  • กระพี้ แก้ไข้สันนิบาดเพื่อลม
  • ใบ ช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน แก้อักเสบ ใบสดมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ มีแคลเซียม วิตามินซี แร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก นอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่า ใบมะรุมมีโปรตีนสูงกว่านมสด 2 เท่า การกินใบมะรุมตามชนบทของประเทศกำลังพัฒนา และประเทศโลกที่ 3 เป็นการเพิ่มโปรตีนคุณภาพสูงราคาถูกให้กับอาหารพื้นบ้าน
  • ดอก ช่วยบำรุงร่างกาย ขับปัสสาวะ ขับน้ำตา ใช้ต้มทำน้ำชาดื่มช่วยให้นอนหลับสบาย
  • ฝัก รสหวาน แก้ไข้หรือลดไข้
  • เมล็ด นำเมล็ดมะรุมมาสกัดน้ำมันสามารถใช้ทำอาหาร รักษาโรคปวดตามข้อ โรคเก๊าท์ รักษาโรครูมาติซั่ม และรักษาโรคผิวหนัง แก้ผิวแห้ง ใช้แทนยารักษาผิวให้ชุ่มชื้น รักษาโรคอันเกิดจากเชื้อรา
  • น้ำมันมะรุม ใช้หยอดจมูกรักษาโรคภูมิแพ้ ไซนัสโรคทางเดินหายใจ ใช้หยอดหูฆ่าและป้องกันพยาธิในหู รักษาอาการเยื่อบุหูอักเสบ รักษาโรคหูน้ำหนวก ใช้ทาผิวหนังรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อราและเชื้อไวรัส รักษาโรคเริม งูสวัด รักษาและบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้น ใช้ทารักษาแผลสด หูด ตาปลา ใช้ถูนวดบรรเทาอาการบริเวณที่ปวดบวมตามข้อ รักษาโรคไขข้ออักเสบ เก๊าท์ รูมาติก เป็นต้น
  • เนื้อในเมล็ดมะรุม ใช้แก้ไอได้ดี การรับประทานเนื้อในเมล็ด เป็นประจำสามารถเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายได้
  • กากของเมล็ด กากที่เหลือจากการทำน้ำมัน สามารถนำมาใช้ในการกรอง หรือทำน้ำให้บริสุทธิ์เป็นน้ำดื่มได้ กากของเมล็ดมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นอย่างยิ่ง และยังสามารถนำมาทำปุ๋ยต่อได้อีกด้วย

 องค์ประกอบสำคัญ(2)

  • เปลือกจากลำต้น : moringine, moringinine
  • ลำต้น : vanillin, b -sitosterol, b-sitostenone, 4-hydroxymellin และ octacosanoic acid
  • ยาง : L-arabinose, -galactose, -glucuronic acid, L-rhamnose, -mannose และ -xylose
  • ดอก : amino acids, sucrose, D-glucose, traces of alkaloids, wax, quercetin และ kaempferat

นอกจากนี้ยังพบรงควัตถุที่เป็น flavonoid เช่น  alkaloids, kaempherol, rhamnetin, isoquercitrin และkaempferitrin

  • ฝัก : thiocarbamate และ isothiocyanate glycosides ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต
  • เมล็ด : cytokinins, O-ethyl-4-(α-L-rhamnosyloxy)benzyl carbamate, 4(a-L-rhamnosyloxy) benzyl isothiocyanate, niazimicin, 3-O-(6¢-O-oleoyl-b-D-glucopyranosyl)-b-sitosterol, b-sitosterol-3-O-b-D-glucopyranoside, niazirin, b-sitosterol และ glycerol-1-(9-octadecanoate)
  • ใบ : ประกอบไปด้วยสารที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น ascorbic acid, flavonoids, phenolics และ carotenoids, oestrogenic substances, b-sitosterol , iron, calcium, phosphorus, copper, vitamins

A, B and C, a-tocopherol, riboflavin, nicotinic acid, folic acid, pyridoxine, b-carotene, protein, essential amino acids เช่น methionine, cystine, tryptophan and lysine

  • น้ำมันจากเมล็ด : ประกอบไปด้วย sterol ได้แก่ campesterol, stigmasterol, b-sitosterol, D5-avenasterol, clerosterol, 24-methylenecholesterol, D7-campestanol, stigmastanol และ 28-isoavenasterol  นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยกรดไขมันเช่น  oleic oils (C18:1, 67.90%-76.00%), C16:0 (6.04%-7.80%), C18:0 (4.14%-7.60%), C20:0 (2.76%-4.00%) และ C22:0 (5.00%-6.73%)

        น้ำมันจากเมล็ดมะรุมอุดมไปด้วย tocopherols (a-, g- และ d -) ในความเข้มข้น 98.82-134.42, 27.90-93.70, and 48.00- 71.16 mg/kg ตามลำดับ

 

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

  • * ฤทธิ์ลดความดันโลหิต

          Gilani และคณะ(3)ได้ศึกษาสารสกัดเอทานอลจากใบพบว่ามีสารสำคัญคือ niazinin A , niazinin B , niazimicin  และniaziminin A + B พบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิตและทำให้หัวใจเต้นช้าลง  นอกจากนี้ยังพบว่ามีผลยับยั้งการบีบตัวของมดลูกและลดการหดเกร็งในช่องท้องซึ่งน่าจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้

          จาก review ของ Anwar และคณะ(2) กล่าวว่าน้ำคั้นจากใบมะรุมทำให้ความดันโลหิตคงที่ได้ ซึ่งสารสำคัญในส่วนใบที่ทำหน้าที่ลดความดันได้แก่ Nitrile, mustard oil glycosides และ  thiocarbamate glycosides  ส่วนสารในกลุ่ม niazinin A , niazinin B , niazimicin  และ  niaziminin A + B สามารถออกฤทธิ์ลดความดันโดยผ่านกลไกการเป็น calcium antagonist นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ลดความดันโลหิตของส่วนอื่นๆนอกเหนือจากใบได้แก่ เปลือกฝัก เนื้อผลและเมล็ด  พบว่าเมล็ดเป็นส่วนที่ให้ฤทธิ์ดีที่สุด และพบว่าสารออกฤทธิ์ในส่วนฝักได้แก่ thiocarbamate, isothiocyanate glycosides, methyl phydroxybenzoate และ b-sitosterol

          นอกจากนี้ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของมะรุมอาจสืบเนื่องมาจากฤทธิ์ขับปัสสาวะของมะรุมซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

  • * ฤทธิ์ขับปัสสาวะ

          มีการศึกษาพบฤทธิ์ขับปัสสาวะของสารสกัดจากราก ดอก ยาง และเมล็ดของมะรุม(2) ส่วนการศึกษาของ Caceres และคณะ(4) ทำการแช่ส่วนดอก ใบ ราก เมล็ด ก้านใบ และเปลือกของมะรุมในน้ำร้อน  พบว่าน้ำที่ได้จากการแช่ส่วนรากมะรุมแสดงฤทธิ์ขับปัสสาวะที่ 1000 mg/kg ( dose เทียบจากน้ำหนักพืชแห้ง)

  • * ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล

          จาก review ของ Anwar(2) กล่าวว่าสารสสกัดจากส่วนใบมีฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลซึ่งสารออกฤทธิ์น่าจะเป็น b-sitosterol(5)  ในขณะที่มีการศึกษาผลของผลมะรุมต่อกระต่ายที่มีระดับไขมันในเลือดสูง(6) โดยแบ่งกลุ่มทดลองเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ได้มะรุมและยา (Simvastatin) มีระดับคอเลสเตอรอล ฟอสโฟไลพิด ไตรกลีเซอไรด์ VLDL LDL ปริมาณคอเลสเทอรอลต่อฟอสโฟไลพิด และ atherogenic index ต่ำลง ทั้ง 2 กลุ่มมีการสะสมไขมันในตับ หัวใจ และหลอดเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ตา) ลดลง กลุ่มที่กินมะรุมพบการขับคอเลสเทอรอลในอุจจาระเพิ่มขึ้น

          นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของ Chumark และคณะ(7) พบว่าสารสกัดจากใบมะรุมมีฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลได้ถึง 50% อีกทั้งยังลดการเกิด atherosclerotic plaque ได้ 86% เมื่อเทียบกับ Simvastatin

  • * ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

          Chumark และคณะ(7) ได้ศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากใบมะรุมโดยใช้ DPPH และ TroloxÒ ได้ค่า IC50 เท่ากับ 78.15±0.92 และ 2.14±0.12_g/ml ตามลำดับ

          มีการศึกษาสารที่แยกได้จากรากมะรุมได้แก่ β-Sitosterol-3-O- β-D-glucopyranoside และ 4-(isothiocyanatomethyl) phenol พบว่าเฉพาะสาร β-Sitosterol-3-O- β-D-glucopyranoside เท่านั้นที่แสดงฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ(8)

มีการศึกษาสารสกัดน้ำมันจากเมล็ดมะรุมพบว่าสารสำคัญคือ 3,5,7,3¢,4¢,5¢-hexahydroxyflavone (myricetin) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่า BHT และ a-tocopherol ที่ได้จากเมล็ดทานตะวันที่ใช้เป็นตัวเปรียบเทียบ(9)

  • * ฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของช่องท้อง

จากการศึกษาของ Caceres และคณะ(4) พบว่าน้ำที่ได้จากการแช่เมล็ดมะรุม (infusion) มีฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของ isolated duodenum เมื่อถูกกระตุ้นด้วย acetylcholine โดยมีค่า ED50 อยู่ที่ความเข้มข้น 65.6 mg/ml

จาก review ของ Anwar กล่าวถึงการศึกษาพบว่าส่วนรากของมะรุมมีฤทธิ์ต้านการหดเกร็ง แต่ส่วนที่มีการศึกษาถึงฤทธิ์นี้กันอย่างแพร่หลายคือ ส่วนใบ โดยพบว่าสารสกัดเอทานอลของใบมะรุมมีฤทธิ์ต้านการหดเกร็งโดยผ่านกลไกการยับยั้ง Calcium channel ซึ่งสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ได้แก่ 4-[a-(L-rhamnosyloxy) benzyl]-o-methyl thiocarbamate (trans) จึงทำให้มีการใช้มะรุมในทางการแพทย์พื้นบ้านในโรคเกี่ยวกับความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวลำไส้

  • * ฤทธิ์ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร

จากการศึกษาของ Pal และคณะ(10) พบว่าสารสกัดเมทานอลของส่วนใบมะรุมมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการกระตุ้นด้วย acetylsalicylic acid, serotonin และ  indomethacin นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถเร่งการสมานแผลในกระเพาะอาหารชนิดเรื้อรังที่เกิดจากการกระตุ้นด้วย acetic acid ในการทดลองอีกด้วย

  • * ฤทธิ์ปกป้องตับ

จากการศึกษาของ Patel และคณะ(11) พบว่าสารสกัดเอทานอลของผลมะรุมสามารถป้องกันการถูกทำลายของเซลล์ตับโดยใช้ Silymarin เป็นตัวเปรียบเทียบ  พบว่าสารสกัดมะรุมสามารถลดการเพิ่มขึ้นของ GPT, GOT, lipid peroxidation and %viability เนื่องจากการถูกกระตุ้นด้วย CCl4 ในการทดลอง โดยสารสกัดเอทานอลที่ความเข้มข้นต่ำๆเพียง 0.01 mg/l ก็สามารถแสดงฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับได้ โดยฤทธิ์ดังกล่าวนี้อาจสัมพันธ์กับความสามารถในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของมะรุม

จากการศึกษาของ Nadro และคณะ(12) พบว่าสารสกัดด้วยน้ำของส่วนใบมะรุมมีฤทธิ์ในการปกป้องเซลล์ตับจากการถูกทำลายโดยการกระตุ้นด้วยแอลกอฮอล์ในการทดลอง  โดยพบว่าหนูทดลองกลุ่มที่ได้รับสารสกัดมะรุม (100 และ 200 mg/kg) ก่อนที่จะได้รับแอลกอฮอล์จะมีค่าเอนไซม์ต่างๆที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงการถูกทำลายของตับลดลง ได้แก่ ALT, AST และ ALP รวมถึง lipid peroxidation ในขณะที่มีระดับ vitamin C ในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดมะรุม โดยผลจะแปรผันตามความเข้มข้นของสารสกัดมะรุมที่ได้รับ และเมื่อทดลองให้สารสกัดมะรุม (200 mg/kg) หลังจากการกระตุ้นด้วยแอลกอฮอล์   พบว่าในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดมะรุมจะมีการฟื้นสภาพของเซลล์ตับหลังจากถูกทำลายเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด โดยคาดว่ากลไกในการปกป้องเซลล์ตับจากการถูกทำฃายของแอลกอฮอล์อาจเนื่องมาจากความสามารถของมะรุมในการยับยั้ง lipid peroxidation รวมถึงฤทธิ์ในการป้องกันการลดระดับของ vitamin C

จาก review ของ Anwar(2) พบว่าส่วนรากของมะรุมมีฤทธิ์ปกป้องตับ  นอกจากนี้สารสกัดแอลกอฮอล์จากส่วนดอกของมะรุมก็มีฤทธิ์เช่นเดียวกันโดยสารสำคัญที่ทำหน้าที่ปกป้องตับคือ quercetin ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม Flavonoid ที่สำคัญที่มีฤทธิ์ในการปกป้องตับ

  • * ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

                จาก review ของ Anwar(2) กล่าวว่าส่วนรากของมะรุมอุดมไปด้วยสารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา เช่น pterygospermin เป็นต้น สารที่มีฤทธิ์ดังกล่าวนี้ยังพบได้ในส่วนดอกของมะรุมด้วย มีการศึกษาพบสารออกฤทธิ์อื่นๆในส่วนรากได้แก่ 4-a-L-rhamnosyloxy benzyl isothiocyanate , aglycone of deoxy-niazimicine (N-benzyl, S-ethyl thioformate) ที่ได้จากการสกัดเปลือกรากด้วยคลอโรฟอร์ม  นอกจากนี้ส่วนเปลือกของลำต้นก็มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา โดยน้ำคั้นที่ได้จากเปลือกมีฤทธิ์ยับยั้ง Staphylococcus aureus  ส่วนน้ำคั้นจากใบสามารถยับยั้งเชื้อก่อโรคในมนุษย์ได้แก่  Pseudomonas aeruginosa และ Staphylococcus aureus

จากการศึกษาของ Chuang และคณะ(13) พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดและใบมะรุมมีฤทธิ์ต้านเชื้อราในหลอดทดลอง คือเชื้อในกลุ่ม dermatophyte เช่น Trichophyton rubrum, Trichophyton mentagrophytes, Epidermophyton Xoccosum และ Microsporum canis และจากการวิเคราะห์องค์ประกอบสำคัญพบว่ามีน้ำมันหอมระเหยอยู่กว่า 44 ชนิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไปในการแยกสารออกฤทธิ์มาพัฒนาตำรับยาสำหรับโรคผิวหนัง

  • * ฤทธิ์ในการรักษาโรคเริม (14)

จากการทดสอบประสิทธิภาพสารสกัดจากพืชไทยที่มีฤทธิ์ยับยั้ง herpes simplex virus type 1ในin vitro และ in vivo พบว่าพืช 11 ชนิดจาก 20 ชนิดที่ทดสอบโดย plaque reduction assay สามารถยับยั้งการสร้าง plaque ของ herpes simplex virus type 1ได้มากกว่า 50% ที่ 100 ug/ml โดยมะรุมเป็นพืช 1 ใน 11 นั้นด้วย มีการทดสอบประสิทธิภาพการรักษาโรคเริมในหนู โดยให้สารสกัดมะรุม 750 mg/kg ต่อหนึ่งวันพบว่าชะลอการเกิดแผลที่ผิวหนัง(skin lesions) ช่วยยืดอายุ และลดอัตราการตายอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสารละลาย 2% DMSO และเมื่อเปรียบเทียบกับ acyclovir ในแง่ประสิทธิภาพในการรักษาพบว่าไม่แตกต่างกัน ส่วนความเป็นพิษยังไม่ได้ศึกษา

  • * ฤทธิ์ต้านมะเร็งและเนื้องอก

                จาก review ของ Anwar(2) กล่าวถึงการศึกษาของ Makonnen และคณะที่พบว่าใบของมะรุมเป็นแหล่งที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็ง ได้มีการทดสอบฤทธิ์ของสาร O-Ethyl-4-(α-L-rhamnosyloxy)benzyl carbamate กับ 4(α-L-rhamnosyloxy)-benzyl isothiocyanate, niazimicin และ 3-O-(6'-O -O-oleoyl-β-D-glucopyranosyl)-β-sitosterol ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองแสดงฤทธิ์ต้านการกระตุ้น  Epstein-Barr virus-early antigen โดยมีการศึกษาที่รายงานว่า niazimicin เป็นสารป้องกันการก่อมะเร็งที่ดีมาก

มีการศึกษาสารสกัดจากเมล็ดพบว่ามีประสิทธิภาพต่อเอนไซม์ที่เมทาบอไลซ์สารก่อมะเร็งในตับ มีผลต่อการต้านอนุมูลอิสระ และสามารถต่อต้านการเกิดเนื้องอกที่ผิวหนังหนูได้

                สารเหนียวจากเมล็ดมีฤทธิ์เหมือนกับยา neomycin ต่อต้านเชื้อ Staphylococcus aureus pyodermia ในหนู นอกจากนี้ยังพบ niaziminin ซึ่งเป็นสารจำพวก thiocarbamate จากใบของมะรุม ยับยั้งการกระตุ้น tumor-promoter-induced Epstein-Barr virus เช่นเดียวกับสารในกลุ่มของ isothiocyanate ได้แก่ 4-[(4'-O-acetyl-α-i-rhamnosyloxy) benzyl ก้สามารถยับยั้งการกระตุ้น tumor-promoterinduced Epstein-Barr virus ได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงมีการเสนอว่า isothiocyano group เป็น critical structural factor สำหรับการออกฤทธิ์

สารเบนซิลไทโอไซยาเนตไกลโคไซด์ชนิดหนึ่งและสารไนอาซิไมซิน (niazimicin) จากมะรุมสามารถต้านการเกิดมะเร็งที่ถูกกระตุ้นโดยสารฟอบอลเอสเทอร์ในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ การทดลองในหนูพบว่าหนูที่ได้รับฝักมะรุมเป็นอาหารเกิดโรคมะเร็งผิวหนังจากการกระตุ้นน้อยกว่ากลุ่มทดลอง โดยกลุ่มที่กินมะรุมมีเนื้องอกบนผิวหนังน้อยกว่ากลุ่มควบคุม

  • * ฤทธิ์ควบคุมระดับ Thyroid hormone

จากการศึกษาของ Tahiliani และคณะ(15) พบว่าสารสกัดจากใบมะรุมสามารถควบคุมระดับ thyroid hormone  ได้  โดยพบว่าในหนูทดลองกลุ่มที่ได้รับสารสกัดมีระดับ triiodothyronine (T3)

ในเลือดลดลง ในขณะที่ระดับ thyroxine (T4) เพิ่มขึ้น ผลดังกล่าวนี้จะสังเกตเห็นในหนูทดลองเพศเมียได้ชัดเจนกว่าเพศผู้   โดยกลไกการออกฤทธิ์มาจากความสามารถของสารสกัดในการยับยั้งการเปลี่ยน T4 ไปเป็น T3  ซึ่งออกฤทธิ์ได้ที่ความเข้มข้นต่ำๆ (170 mg/kg) จึงสามารถใช้ควบคุมระดับฮอร์โมนในผู้ป่วย hyperthyroidism ได้

  • * ฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง

จากการศึกษาของ Gupta และคณะ(16) พบว่าสารสกัดเมทานอลจากส่วนรากของมะรุมสามารถเสริมผลของ pentobarbitone sodium, diazepam และ meprobamate โดยเพิ่มเวลาในการนอนหลับ  นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์แก้ปวดและเสริมฤทธิ์แก้ปวดของ morphine และ pethidine  และเมื่อให้สารสกัดก่อนการกระตุ้นด้วย strychnine และ leptazol สามารถป้องกันการชักของหนูทดลองได้ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงฤทธิ์ผ่อนคลายหรือกดระบบประสาทส่วนกลางของสารสกัดมะรุม 

  • * ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

จากการศึกษาของ Manjari และคณะ(17) กล่าวว่าพืชส่วนใหญ่ที่ประกอบไปด้วยกลุ่ม glycoside  มักมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด  เช่นเดียวกับมะรุม  โดยจากการศึกษาพบว่าสารสกัดเมทานอลจากใบมะรุม (1000 mg/kg) ไม่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ในขณะที่สารสกัดเอทานอลจากใบมะรุม (1000 mg/kg) มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ในหนูที่เป็นเบาหวานที่ถูกกระตุ้นด้วย alloxane

  • * ฤทธิ์ลดการเกิดนิ่วในไต

จากการศึกษาของ Karadi และคณะ(18) พบว่าสารสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์จากรากและเนื้อไม้มะรุม  สามารถลดการเพิ่มขึ้นของออกซาเลตในทางเดินปัสาวะ และยังควบคุมการสังเคราะห์ออกซาเลตในร่างกายในหนูที่ได้รับการกระตุ้นโดย ethylene glycol ให้เกิดภาวะ hyperoxaluria

นั่นคือสามารถช่วยลดการสะสมของสารที่เป็นต้นเหตุของนิ่วในไต  จึงสรุปได้ว่าสารสกัดจากมะรุมและมีฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดนิ่วในไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เอกสารอ้างอิง

1.            สุธาทิพย์ ภมรประวัติ. มะรุม ลดไขมันป้องกันมะเร็ง. กลุ่มวิชาเภสัชโภชนศาสตร์ โครงการบัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

2.            Anwar F, Latif S, Ashraf M, Gilani AH. Moringa oleifera: A food plant with multiple medicinal uses. Phytotherapy research. 2007;21:17-25.

3.            Gilani AH, Aftab K, Suria A, Siddiqui S, Salem R. Pharmacological studies on hypotensive and spasmolytic activities of pure compounds from Moringa oleifera Phytotherapy research. 2006;8(2):87-91.

4.            Caceres A, Saravia A, Rizzo S, Zabala L, De Leon E, Nave F. Pharmacologie properties of Moringa oleifera. 2: Screening for antispasmodic, antiinflammatory and diuretic activity. Journal of Ethnopharmacology. 1992;36(3):233-7.

5.            Ghasi S, Nwobodo E, Ofili JO. Hypocholesterolemic effects of crude extract of leaf of Moringa oleifera Lam in high-fat diet fed wistar rats. Journal of Ethnopharmacology. 2000;69:21-5.

6.            Mehta LK, Balaraman R, Aminb AH, Bafna PA, Gulati OD. Effect of fruits of Moringa oleifera on the lipid profile of normal and hypercholesterolaemic rabbits. Journal of Ethnopharmacology. 2003;86:191-5.

7.            Chumark P, Khunawat P, Sanvarinda Y, Phornchirasilp S, Morales NP. The in vitro and ex vivo antioxidant properties, hypolipidaemic and antiatherosclerotic activities of water extract of Moringa oleifera Lam. leaves. Journal of Ethnopharmacology. 2008;116:439-46.

8.            Yammuenart D, Chavasiri W, Pongrapeeporn K-u. Chemical constituents and their bioolgical activity of Moringa oleifera Lam. Natural Products Research Unit, Department of Chemistry, Faculty of Science, Chulalongkorn University.

9.            Lalas S, Tsaknis J. Extraction and identification of natural antioxidant from the seeds of the Moringa oleifera tree Variety of Malawi. JAOCS. 2002;79(7).

10.          Pal SK, Mukherjee PK, Saha BP. Studies on the antiulcer activity of Moringa oleifera leaf extract on gastric ulcer models in rats. Phytotherapy research. 2006;9(6):463-5.

11.          Patel RK, Patel MM, Patel MP, Kanzaria NR, Vaghela KR. Hepatoprotective activity of Moringa oleifera Lam. fruit on isolated rat hepatocytes. Pharmacognosy magazine 2008;4(15(suppl)):s118-s23.

12.          Nadro MS, Arungbemi RM, Dahiru D. Evaluation of Moringa oleifera leaf extract on alcohol-induced hepatotoxicity. Tropical Journal of Pharmaceutical Research. 2006;5(1):539-44.

13.          Chuang P-H, Lee C-W, Chou J-Y, Murugan M, Shieh B-J. Anti-fungal activity of crude extracts and essential oil of Moringa oleifera Lam. Bioresource Technology. 2007;98:232-6.

14.          Lipipun V, Krokawa M, Suttisri R, Taweechotipatr P, Pramyothin P. Efficacy of Thai medicinal plant extracts against herpes simplex virus type 1 infection in vitro and in vivo. Department of Microbiology, Faculty of Pharmaceutical Sciences, Chulalongkorn University.

15.          Tahiliani P, Kar A. Role of Moriga oleifera leaf extract in the regulation of thyroid hormone status in adult male and female rats. Pharmacological Research. 1999;41(3):319-23.

16.          Gupta M, Mazumder Uk, Chakrabarti S. CNS activities of methanolic extract of Moringa oleifera root in mice. Fitoterapia 1999;70:244-50.

17.          Manjari M, Piyush M, C AA. Pharmacognostical and phytochemical investigation of antidiabetic activity of Moringa oleifera lam leaf The Indian Pharmacist 2007;6(59):70-2.

18.          Karadi RV, Gadgeb NB, Alagawadi KR, Savadi RV. Effect of Moringa oleifera Lam. root-wood on ethylene glycol induced urolithiasis in rats. Journal of Ethnopharmacology. 2005;105:306-11.

 

Advertising Zone    Close


Online: 1 Visits: 30,628 Today: 2 PageView/Month: 41

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...